มทร.ธัญบุรี อัญเชิญ ‘ผ้าพระกฐินพระราชทาน’ ถวาย ‘วัดแก้วพิจิตร’ ปราจีนบุรี

มทร.ธัญบุรี อัญเชิญ ‘ผ้าพระกฐินพระราชทาน’
ถวาย ‘วัดแก้วพิจิตร’ ปราจีนบุรี

มทร.ธัญบุรี เตรียมอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2561 น้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ พระอารามหลวง วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

 

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ตามที่ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ พระอารามหลวง วัดแก้วพิจิตร ซึ่งจะมีกำหนดในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2561 นี้ โดยทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมและการปฏิบัติกับทางวัดแก้วพิจิตร เพื่อความเรียบร้อยตามประเพณีนิยม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บูรณปฏิสังขรณ์วัด ทั้งยังตระหนักและย้ำเตือนถึงหน้าที่ชาวพุทธในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

 

 

 

ด้าน พระครูยุตติคุณากร (สายหยุด คุณยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดแก้วพิจิตร กล่าวว่าเป็นโอกาสอุดมมงคลที่จะมีการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ทอดถวายพระสงฆ์ ณ พระอารามหลวง วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี เป็นวัดเก่าแก่ในฝ่ายธรรมยุติ จากข้อมูลพบว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2422 อายุปัจจุบันราว 139 ปี เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดที่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จมาแล้ว รวมถึงพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่

 

 

 

คุณค่าทางจิตใจของวัดแก้วพิจิตร ทั้งปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่สำคัญ และมีประวัติน่าสนใจคือ ‘พระอุโบสถ’ ที่ผสมผสานความเป็นสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม 4 ชาติ ระหว่างไทย จีน เขมรและตะวันตก ถือเป็นพระอุโบสถแห่งเดียวในประเทศไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สร้างขึ้นโดยชางและแรงงานชาวเขมรในสังกัดของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และได้รับการผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ.2464 และมี ‘พระพุทธรูปปางอภัยทาน’ ที่มีองค์เดียวในโลก เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ.2462 โดยนำพรอันเป็นนิมิต 3 ข้อของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะผู้สร้างและบวงสรวงขอพร คือ
“ถ้าเป็นผู้ที่ใจร้อน – เมื่อได้นมัสการแล้วใจจะเย็นลงและสงบขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่คำพูดไม่มีความหมาย ไม่ประทับใจหรือขวางหูคนฟัง – เมื่อนมัสการแล้ว คำพูดของผู้นั้นจะตราตรึงใจผู้ฟังและผู้ร่วมสนทนา และถ้าล่วงเกินใคร ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ – เมื่อได้นมัสการแล้ว จะได้รับการอภัยเสมอ ไม่มีศัตรู” ส่วนด้านหลังพระพุทธรูปปางอภัยทาน จะเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระประธานองค์เก่าประดิษฐานอยู่

 

 

ในศาลาการเปรียญวัดแก้วพิจิตร เป็นที่ประดิษฐานของ ‘พระรัตนสุวรรณ’ เป็นพระทองคำศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย ทรงเครื่องประดับอัญมณีหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว พร้อมฐานลงยาสีเขียวกว้าง 7 นิ้ว มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 พระราชทานให้ตระกูลอภัยวงศ์เมื่อครั้งไปรับราชการที่เมืองพระตะบอง ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ถวายให้เป็นพระประจำวัดแก้วพิจิตร ให้ได้กราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และปัจจุบันมีความเชื่อว่า หากใครที่ไปรับราชการหรือรับตำแหน่งใหม่ ควรหาโอกาสไปกราบขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
ขณะเดียวกัน ยังปรากฏ ‘พระยอดธง’ ที่เป็นพระเครื่องที่สันนิษฐานกันว่าสร้างไว้เพื่อติดกับยอดเสาธงนำทัพในสมัยโบราณ ที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างความกล้าแกร่งในการสู้รบและเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ โดยพระยอดธงที่พบเป็นพระพุทธรูปปางรับมธุปายาส ลักษณะนั่งห้อยพระบาท แบพระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระชานุ เนื้อโลหะ ติดอยู่บนปลายเสาธง และมี ‘ผืนธงรูปสามเหลี่ยม’ ในผืนธงมีตัวอักษรและอักขระภาษาขอมโบราณ ซึ่งจากมูลเหตุการเล่าขานและการสืบค้นจากพงศาวดารเขมร อาจบงชี้ได้ว่าพระยอดธงและธงนี้ เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถือเป็นพระเครื่องอันทรงคุณค่า

 
นอกจากนั้นยังมีสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมกับความเป็นไทยนั่นคือ ‘หอไตร’ โดยซุ้มประตูและหน้าต่างประดับตกแต่งด้วยกระจกสี มีสัญลักษณ์ของผู้สร้างที่ฐานเสา หน้าบันจะมีหัวสิงโตวางอยู่บนพาน มีนางฟ้าถือดอกบัวขนาบ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2464 ถัดมา ‘หอระฆัง’ มีเครื่องยอดเป็นทรงมณฑปตั้งอยู่ภายในระเบียงดาดฟ้าชั้น 3 อาคารก่ออิฐถือปูน และยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งคือ ‘โรงเรียนบาลีธรรมวินัยและหนังสือไทย’ เป็นอาคารชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นบนเป็นดาดฟ้า ประกอบยอดโดมคล้ายโดมของกรีก และอาคารดังกล่าวได้รับพระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนอภัยพิทยาคาร’ ปัจจุบันใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม
จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านเข้าร่วมเพื่อเป็นเกียรติและอนุโมทนาในกุศลมงคล ที่ มทร.ธัญบุรี ได้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินในครั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติม โทร.02 549 3054

 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.