วช.มอบรางวัล นวัตกรรมช่วยชีวิต ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 62

วช.มอบรางวัล นวัตกรรมช่วยชีวิต ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 62


สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดี ให้กับ อุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแบบพกพา (CPR) ช่วยวัดการหายใจแบบเรียลไทม์ แสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และรวดเร็ว จะจัดแสดงและรับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” (Thailand inventor’s Day 2019) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นพร้อมใช้ของไทยและต่างประเทศ ที่จัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand โดยผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง อุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (ST-Safe Breathing Plus Coaching CPR) ของ อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องทำ CPR ให้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี รวดเร็ว แม้ไม่เคยผ่านการอบรมการทำ CPR มาก่อน เป็นนวัตกรรมและผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ในระดับดี สาขาการศึกษา เป็นอุปกรณ์นำช่วยชีวิตและวัดการหายใจแบบพกพา ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์วัดการหายใจแบบเรียลไทม์และนำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สามารถแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงเวลาวิกฤตของชีวิต ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือในขั้นต่อไปจากรถพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์


อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานกล่าวว่า ภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งต้องกระทำภายใน 4 นาทีแรกหลังประสบเหตุ จึงจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ การให้การพยาบาลและเฝ้าระวังช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวในระยะวิกฤติ ต้องมีการวางแผนให้ความรู้กับผู้ช่วยเหลือทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการทำ CPR ช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ คณะผู้ประดิษฐ์จึงได้จัดทำอุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เป็นนวัตกรรมเพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) มีความใหม่ สะดวก และมีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สามารถวัดอัตราการหายใจ และแสดงผลอัตราการหายใจผ่าน app. ใน smartphone แบบเรียลไทม์ แสดงข้อมูลต่อเนื่องในรูปแบบกราฟ ที่ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนตรวจสอบความถูกต้องในการประเมินอัตราการหายใจได้จากการแสดงผลที่ผ่าน smartphone ได้ทันที เมื่อผู้เรียนทำการนวดหัวใจในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยมีแรงกดและจังหวะ จำนวนครั้ง และจำนวนรอบของการนวดหัวใจตามค่ามาตรฐานที่กำหนด อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ของผู้เรียนในการฝึกทักษะการทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยอาจใช้ร่วมกับหุ่นจำลองการฝึกทำ CPR ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาขั้นต่ำ 10,000 บาท หรือประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์เสมือนหุ่นจำลองโดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และจัดจำหน่ายให้กับสถานศึกษาทางการแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุในประเทศ ลดต้นทุนการผลิต แต่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกับนานาประเทศด้วยผลผลิตเชิงนวัตกรรม ผู้สนใจสามารถชมนวัตกรรมช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” ณ Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือติดต่อโดยตรงได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 02 986 9213 ต่อ 7316-8, 7337

 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.