ม.วลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ Harbin Engineering University (HEU) และ Heilongjiang Academy of Science (HAS) พัฒนาหลักสูตร 3+1 ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมแลกเปลี่ยนนักวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.วลัยลักษณ์เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม  ศาสตราจารย์ ดร. วรทัศร์ ขจิตวิชยานุกูล คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเยี่ยมชมและลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ 2 มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ประกอบด้วย Harbin Engineering University (HEU)  และ Heilongjiang Academy of Science (HAS) ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ HEU จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี (HEU Track) ในรูปแบบ 3+1 เรียนที่ มวล. 3 ปี และเรียนที่ HEU 1ปี ใน 3 สาขาวิชา คือ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมไฟฟ้ าเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563 โดยนักศึกษาจะได้เรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี 1 จนถึงระดับเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยอาจารย์จาก HEU ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีนและไปปฏิบัติสหกิจศึกษาในสถานประกอบการในประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี  นอกจากนี้ในด้านการวิจัยนักวิจัยจาก HEU จะมาร่วมเป็น keynote speaker และร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในงาน International Conference ที่จะจัดที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในช่วงวันที่ 26-27 มีนาคมปีหน้า ซึ่งตรงกับโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้เกิดการสร้าง research team ระหว่างทั้งสองสถาบัน เพื่อนำไปสู่การขอทุนวิจัยร่วมกัน การตีพิมพ์ผลงานวิชาการ การพัฒนานวัตกรรม และ แลกเปลี่ยนนักวิจัยด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ กล่าวต่อถึงในส่วนของความร่วมมือกับ HAS โดย นักวิจัยจาก HAS จะมาร่วมเป็น keynote speaker และ ร่วมจัด international seminar กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในงาน International Conference ที่จะจัดที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในเดือนมีนาคม 2563 เช่นกัน โดยจะพัฒนางานวิจัยร่วมกันในสาขา Biological pesticides Functional Food และ Agricultural product รวมทั้ง การเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก HAS มาร่วมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปลูกและแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น เห็ดหูหนูดำ ของจีนที่มีชื่อเสียงมากและส่งขายทั่วโลกแก่ผู้ประกอบการในไทย

“การเดินทางไปเยือนจีนครั้งนี้ยังได้มีการประชุมและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ College of Aerospace and Civil Engineering College of Power and Energy Engineering College of Material Sciences and Chemical Engineering College of Physics and Opto-electric Engineering  ซึ่งHarbin Engineering University เป็นสถาบันการศึกษาของจีนที่มีความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงทางด้านการเรียนการสอน และงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่วน Heilongjiang Academy of Science ( HAS) เน้นงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์จริง ผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด สัดส่วนของงานวิจัยมากกว่า 85% จะถูกนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทางวิชาการกับมหาวิทยาวลัยลักษณ์ได้เป็นอย่างดี”รองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.