ม.มหิดล ศาลายา รณรงค์ลดหวานและลดใช้แก้วพลาสติก เดินหน้ารักสุขภาพและรักโลกไปพร้อมกัน

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ “รณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดใช้แก้วพลาสติก” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาคมในมหาวิทยาลัย ให้รักสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ

นอกเหนือจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อย่างโครงการลดใช้ถุงพลาสติกภายในมหาวิทยาลัยฯ ที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงแล้วนั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ยังเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของประชาคมมหิดล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยตระหนักว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมเกิดจากการมีสุขภาพที่ดีและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ
รักษาการแทนอธิการบดี ม.มหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้เปิดตัวโครงการ “รณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดใช้แก้วพลาสติก” ซึ่งเป็นการผนวกรวมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นสุขภาพ ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมมาอยู่ภายใต้โครงการเดียว เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมมหิดลได้มีองค์ความรู้รอบด้าน ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ และรักโลกไปพร้อมกัน เพื่อเป้าหมายในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งตนเองและคนอื่น ๆ ในสังคม

โครงการฯ ดังกล่าว จะเริ่มต้นโดยการแสวงหาความร่วมมือจากร้านค้าต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ที่มีการขายเครื่องดื่มและใช้แก้วพลาสติก จากนั้นทางโครงการฯ จะขอความร่วมมือติดตั้งสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูล และตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเลือกลดระดับน้ำตาลในเครื่องดื่ม และเลือกใช้แก้วพกพามากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต
รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ดังกล่าวว่า “คนในยุคปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก บางครั้งเราก็คำนึงถึงความสะดวกสบายมาก่อน และลืมใส่ใจตัวเองและสิ่งรอบตัว ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การแพทย์ การโภชนาการ จึงพยายามผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบร่วมกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย รวมถึงพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ”

มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564 และสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร กล่าวต่ออีกว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องเป้าหมายของการเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย โดยที่ “โครงการรณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดการใช้แก้วพลาสติก” เป็นหนึ่งในโครงการฯเป้าหมายที่มีความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฯมุ่งมั่นที่ขับเคลื่อนโครงการฯให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และจะเริ่มนำร่องจากภายในมหาวิทยาลัยฯ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ ขณะที่ภายในรั้วของมหาวิทยาลัยฯมีนักศึกษาในช่วงอายุ19-20 ปีเป็นจำนวนมากและเป็นช่วงวัยที่ต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในทางกลับกันผลสำรวจร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยฯกับพบว่ามีแต่ร้านกาแฟมากกว่า 50 ร้าน ส่วนร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสดกลับไม่มีเลยสักร้านเดียว

และผลสำรวจยังพบอีกว่าในปัจจุบันเครื่องดื่มที่ส่วนผสมของน้ำตาล ครีมเทียม นมข้นหวาน มีจำนวนเยอะมาก แม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อก็จะพบว่ามีแต่เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เครื่องดื่มประเภทให้ความหวานจำนวนมาก ทำให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยฯมีทางเลือกไม่มาก ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแต่น้ำตาล มีครีมเทียมเยอะขึ้นซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ดังนั้นมหาวิทยาลัยฯร่วมกับสถาบันโภชนาการได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักศึกษาให้ลดความหวานลงเพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตนักศึกษาอาจจะกลายเป็นคนที่ติดรสหวานซึ่งจะมีผลเสียต่อสุขภาพจึงเป็นที่มาของโครงการป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์ลดบริโภคหวานขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมการบริโภคหวาน ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคว่าเมื่อพบป้ายรณรงค์ในทุกๆร้านที่ขายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ครีมเทียม และนมข้นหวานก็จะทำให้ผู้บริโภคเลือกรับความหวานได้ตามป้ายประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ทางสถาบันโภชนาการได้ศึกษามาแล้วว่าป้ายประชาสัมพันธ์จะสามารถช่วยลดปริมาณการบริโภคได้ซึ่งจะเป็นป้ายที่ช่วยกระตุ้น และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคความหวานซึ่งก็จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือหวาน 100% หวานน้อย 50% หรือ เลือกรับทานแบบไม่หวานเลย เบื้องต้นในระยะแรกๆจะควบคุมด้วยวิธีนี้และก็จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ และได้ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นและควบคุมผู้บริโภคให้ลดการบริโภคหวานลดลงและประสบผลสำเร็จดีพอสมควร หากมีการประชาสัมพันธ์ไปในระดับประเทศก็จะเป็นการช่วยประชาชนผู้บริโภคทั่วทั้งประเทศลดการบริโภคน้ำตาลลงได้ระดับหนึ่งซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของตัวผู้บริโภคเอง

สำหรับอีกหนึ่งโครงการเป็นการช่วยกันลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติก โดยที่มหาลัยฯได้รณรงค์การลดใช้พลาสติกมากว่า2 ปี โดยเฉพาะการลดใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ยังได้มีการคุยกับผู้ประกอบการร้านค้าเครื่องดื่มที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยฯถึงการลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติก โดยที่ลูกค้านำแก้วมาเองอาจจะมีโปรโมชั่นลดราคาให้เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการนำแก้วมาซื้อเครื่องดื่มภายในร้าน และยิ่งช่วยกันบอกต่อก็จะก่อให้เกิดเป็นกระแสการลดใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนในอนาคต ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการฯคือ 1.ทำให้สภาวะแวดล้อมดีขึ้นเพราะปัจจุบันมีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกที่ไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ทะเล หรือสัตว์อื่นๆ 2.ลดการบริโภคน้ำตาลเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะอนาคตเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเชื่อว่าจะไม่ต้องเผชิญกับโรคร้ายต่างๆรวมทั้งรัฐจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในผู้สูงวัยมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์
รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ กล่าวว่า “เพื่อสุขภาพที่ดี เราควรรู้จักนับปริมาณน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เผลอบริโภคมากเกินไป ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้มักจะแฝงอยู่ในเครื่องดื่ม อาหาร และขนมต่าง ๆ โดยปกติแล้วร่างกายจะนำพลังงานจากน้ำตาล มาใช้ในกระบวนการเผาผลาญ หากกินมากเกินไปร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันสะสม ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้”

ปัจจุบันปัญหาที่เป็นสาเหตุของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆและเป็นปัญหาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดสมอง ล้วนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 1ใน 3 ของประชากรโลก เพราะในทุก 6 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน และในทุก 1 ชม.จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและ หลอดเลือด 6 คน จากสถิติพบว่าประเทศไทยมีประชาชนป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านกว่าคนและในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตปีละ 8 พันคน โดยที่จำนวนผู้เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 2 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อาจรู้ได้ว่าเราจะเป็นโรคต่างๆเหล่านี้เมื่อไรหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของคนไทยปัจจุบันบริโภคน้ำตาลถึง 27 ช้อนชาต่อวัน ในขณะที่ WHO ให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา สูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชาต่อวัน หรือสำหรับผู้ใหญ่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 24 กรัม) ส่วนเด็กไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 16 กรัม) โดย 1 ช้อนชาเท่ากับ 4 กรัม

 เมื่อบริโภคน้ำตาลเกินกว่าความต้องการของร่างกายน้ำตาลที่มากเกินไปก็จะกลายเป็นน้ำตาลสะสมในเลือด ไตรกรีเซอร์ไลน์ และไขมัน สะสมอยู่ในร่างกายก่อให้เกิดโรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน  โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดต่างๆ จากปริมาณน้ำตาลที่เกินเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโครงการฯของมหาวิทยาลัยฯจึงเป็นการรณรงค์ลดการบริโภคหวานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื่องจากคนไทยบริโภคหวานเป็นความเคยชิน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องค่อยเป็นค่อยไป เช่นลดปริมาณการเติมน้ำตาล ลดปริมาณการบริโภค หรือแม้กระทั่งลดขนาดของภาชนะ หากสามารถปรับลดการบริโภคหวานลงได้จนเป็นความคุ้นชินก็จะสามารถลดปริมาณน้ำตาลลงได้เองซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ

ในส่วนของประชาชนระดับรากหญ้าที่ยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของการบริโภคหวานซึ่งก่อเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำเป็นต้องให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆเพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหวานผ่าน โมเดลของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจะเป็นโมเดลที่สำคัญและยั่งยืนที่สามารถจะนำไปใช้ได้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับจังหวัดเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคน้ำตาลให้น้อยลงเพื่อสุขภาพที่ดีตอบสนองต่อเป้าหมายของสหประชาชาติที่ให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดี สำหรับโมเดลนี้จะค่อยขยายออกสู่ภายนอกมหาวิทยาลัยโดยจะเริ่มที่ชุมชนรอบๆศาลายาก่อนและขยายไปสู่ระดับอำเภอ และไปสู่ระดับจังหวัดโดยจะให้จังหวัดนครปฐมเป็นโมเดลที่เป็นจังหวัดแห่งสุขภาพดีเป็นจังหวัดแรกก่อน จะก็จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.