สสส. โชว์ผลงานสุขภาวะชุมชนครบรอบ 10 ปี ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พิสูจน์ชัดทำงาน 10 ประเด็นขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งต่อ “กลไก-เครื่องมือ-หลักสูตร”

สสส. โชว์ผลงานสุขภาวะชุมชนครบรอบ 10 ปี ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พิสูจน์ชัดทำงาน 10 ประเด็นขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งต่อ “กลไก-เครื่องมือ-หลักสูตร” ต่อยอด หวังขยายผล “ตำบลพันธุ์ใหม่” ครอบคลุมเต็มพื้นที่ อีก 4,000 ตำบล พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง 98 อปท.ยกระดับชุมชนน่าอยู่-เข้มแข็ง-จัดการตนเองได้
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมรอยัล จูบิลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (A Decade of Togetherness in Co-Creating Healthy Communities) โดยมีนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น สำหรับ “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” และ “ศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน” ระดับดีเยี่ยม และ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น” และนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่3 สสส. มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศูนย์เรียนรู้ ระดับดีเยี่ยม” รวมทั้งสิ้น 98 อปท. นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำประกาศความมุ่งมั่น “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” โดยมีอปท.กว่า 2,000 คน ร่วมงาน
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การทำงานของสสส. ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า3,000 แห่ง ซึ่งภารกิจต่อจากนี้คือ จะขยายผลทำอย่างไรให้อปท.อีก 4,000 แห่ง นำกลไก เครื่องมือ และหลักสูตร แนวทางการทำงานไปใช้ โดยในครั้งนี้มีการส่งมอบภารกิจเพื่อผลักดันไปสู่นโยบาย ทั้งการทำงานโดยอาศัยพื้นที่เป็นตัวตั้ง การใช้ระบบข้อมูลเพื่อทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำไปบรรจุในนโยบายเพื่อให้ทุกพื้นที่นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ทำงาน และส่งมอบภารกิจไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รองรับสังคมสู่อายุ ซึ่งสสส.ดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ(ศพส.) 12 แห่ง ในด้านวิชาการต่างๆ และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอย่างน้อย 60 แห่ง สนับสนุนพัฒนาศักยภาพและการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ(ศพอส.) และศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ 3.ประสานหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 4.สนับสนุนพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทำให้เกิดศูนย์เรียนรู้ระบบการดูลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 63 แห่ง หนังสือขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ และวิดิทัศน์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวว่า สสส.ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า3,000 อปท. ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของอปท.ทั่วประเทศ ได้พิสูจน์ผลการทำงานตลอด 10 ปีแล้วว่า เป็นต้นแบบตำบลสุขภาวะ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ตำบลพันธุ์ใหม่” ที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ 1. สามารถทำงานโดยอาศัยความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพราะหากทั้ง 4 ส่วนไม่ร่วมกันทำงาน งานก็ไม่ประสบความสำเร็จ 2.การทำงานโดยอาศัยฐานข้อมูลชุมชน ที่เป็นของชุมชน และสอดคล้องกับความจริง 3.การตั้งเป้าหมายร่วมกันในพื้นที่ ชุมชนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทำให้ทุกข์น้อย สุขมาก ซึ่งทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ และคาดว่า จะสามารถขยายผลตำบลพันธุ์ใหม่ ครอบคลุมอปท.ทั่วประเทศได้ภายใน 5 ปี โดยนำกลไก เครื่องมือ และหลักสูตรแนวทางต่างๆ ไปปรับใช้
ด้านรศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) กล่าวว่า 10 ประเด็นสำคัญ ที่สสส. ได้สรุปบทเรียน ได้แก่ 1.คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 2. การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 3.การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว 4. การจัดการขยะ 5.การจัดการภัยพิบัติ 6. การดูแลสุขภาพในชุมชน(การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ) 7. การจัดการอาหารในชุมชน 8.เศรษฐกิจชุมชน 9.การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด 10. การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร เหล่านี้เป็นปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ด้วยกลไกการทำงานของสสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทำให้เกิดการรวมตัวเรียนรู้และแก้ปัญหา เกิดข้อเสนอ แนวทาง และวิธีการปฏิบัติ ต้นแบบนำร่องด้านต่างๆ ที่หากชุมชนเกิดปัญหา ก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานได้ทันที โดยใช้กลไกการสานพลังในพื้นที่ สานพลังผู้นำ และสานพลังองค์กร เป็นปัจจัยความสำเร็จในการทำงานของเครือข่ายฯ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.