ม.วลัยลักษณ์ จับมือ สทน. เอ็มโอยูสหกิจศึกษา พร้อมพัฒนางานวิชาการร่วมกัน

เมื่อวันที่ 2เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)  และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) (องค์การมหาชน) ร่วมกันลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ  (COOPERATIVE AND WORK INTEGRATED EDUCATION: CWIE)   ระหว่าง มวล. กับ สทน. โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย มวล. และ ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา รองผู้อำนวยการ สทน. ลงนามเป็นพยาน ท่ามกลางผู้บริหารและบุคลากรของทั้ง 2 สถาบัน ร่วมกันเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคาร 9 สทน.สำนักงานสาขาจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จะเป็นประโยชน์มากทั้งในเรื่องความร่วมมือในทางด้านการวิจัยและด้านสหกิจศึกษา โดยเฉพาะด้านการวิจัย เนื่องจากทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีความก้าวก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สอดคล้องกับนักวิจัยของ มวล.ที่มีการวิจัยพัฒนาในด้านนี้อยู่จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาผลผลิตต่างๆ ของท้องถิ่นให้มีคุณภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ปรับการปฏิบัติสหกิจศึกษาจาก 4 เดือน เป็น 8 เดือน จึงจำเป็นต้องมีสถาบันที่มีมาตรฐานด้านสหกิจศึกษา ที่จะรับนักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษาที่เป็นสถาบันมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาของเราที่เรียนในด้านทฤษฎีมาอย่างครบถ้วน มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะในด้านการปฏิบัติให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถประยุกต์ความคิดทางทฤษฏี เชิงวิชาการนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีหลายส่วนงานที่นักศึกษาของมวล. สามารถมาปฏิบัติสหกิจศึกษา 8 เดือนได้ และจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาของเราที่จะจบไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ กล่าวว่า สทน.มีเครื่องมือ มีอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์เเละรังสี ที่สำคัญเรามีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่พร้อมต้อนรับนักศึกษาให้เข้ามาเรียนรู้ เสนอความคิดเเละนวัตกรรมใหม่ๆที่จะสามารถพัฒนาร่วมกัน ซึ่งหากมีนักศึกษามาสหกิจศึกษาก็จะทำให้มีเเนวความคิดใหม่ๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขยายขีดความสามารถของการใช้งานทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เเละรังสีให้มีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสทน. เองเเละนักศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองสถาบันร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมให้นักศึกษาที่ กำลังจะสำเร็จการศึกษามีประสบการณ์และความพร้อมในการปฏิบัติงานจริงก่อนสำเร็จการศึกษา  การสนับสนุนวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในการบรรยายให้ความรู้ด้านต่างๆ ระหว่างกัน ความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม เช่น การทำโครงงาน งานวิจัย การฝึกอบรม และการจัดกิจกรรมให้บริการทางวิชาการวิชาชีพร่วมกัน

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.