ตัวแทนชุมชนใกล้แคมป์คนงานร้อง ศบค. จี้บริษัทผู้รับเหมารับผิดชอบ สร้างความชัดเจน ลดความหวาดระแวงโควิด-19

ตัวแทนชุมชนใกล้แคมป์คนงานร้อง ศบค. จี้บริษัทผู้รับเหมารับผิดชอบ สร้างความชัดเจน ลดความหวาดระแวงโควิด-19 พร้อมเสนอตรวจโควิดเชิงรุกในตลาด กทม. และพื้นที่ระบาดหนัก เร่งฉีดวัคซีนผู้ขายและลูกจ้าง และช่วยเหลือเยียวยาผู้ขายในตลาดที่ถูกสั่งปิด

วันนี้(27 พฤษภาคม 2564) ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน พร้อมด้วยนางวงศ์จันทร จันทร์ยิ้ม ผู้ประสานงานพื้นที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วยแกนนำชุมชน กทม. ใกล้แคมป์คนงานก่อสร้าง กว่า10 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อนำเสนอปัญหาข้อกังวลของชุมชนที่มีคนงานแคมป์ก่อสร้าง และเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมาทุกรายแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้แรงงาน

นางวรรณา บุญนาค แกนนำจิตอาสาชุมชนทรัพย์สินใหม่ ซอยรามคำแหง 39 กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ ขณะนี้มีแรงงานก่อสร้างในแคมป์คนงานหลายแห่งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แรงงานเที่เหลือต้องถูกกักตัว แต่ปัญหาคือนายจ้างปล่อยให้แรงงานออกมาจากแคมป์ เพื่อกักตัวต่อที่บ้านพัก อย่างชุมชนทรัพย์สินใหม่ขณะนี้มีแรงงานไทยที่ต้องถูกกักตัวอยู่ประมาณ 50 คน จากแคมป์หลักสี่, ประตูน้ำ, ราชเทวี, บางเขน และอิตาเลี่ยนไทย เบื้องต้นผลตรวจเป็นลบแต่ก็ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ตามมาตรการ ทางชุมชนจึงต้องช่วยดูแลติดตาม โดยส่งข้าว ส่งน้ำวันละ 2 มื้อ ส่วนมื้อที่ 3 แรงงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันเอง ก็ถือว่าเป็นภาระหนักพอสมควร เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่รับค่าจ้างรายวัน เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้เงิน ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลผลักดันให้นายจ้างมีการรับผิดชอบต่อแรงงานที่จะต้องกักตัวเหล่านี้ ทั้งสถานที่กักตัวและการกินอยู่
“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้นายจ้างรับผิดชอบการปรับตัวและการกินอยู่ของแรงงานด้วย นอกจากนี้ขอให้รัฐเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยให้รุกเข้ามาฉีดในชุมชนเลย เพราะมีคนแก่เยอะ ไม่อยากให้เคลื่อนย้ายกัน เพราะเดินทางลำบาก และเสี่ยงติดเชื้อระหว่างเดินทางด้วย”นางวรรณา กล่าว

นางวงศ์จันทร จันทร์ยิ้ม ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หลักการสำคัญต้องมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ใช้แรงงานและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.กรณีคนงานก่อสร้างหรือแคมป์คนงานที่อยู่ใกล้ชุมชน เครือข่ายเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมา ออกมาแสดงความรับผิดชอบ สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งในแคมป์และชุมชนใกล้เคียงเพื่อลดความหวาดระแวง สร้างการมีส่วนร่วมสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลของชุมชน 2.ในหลายแคมป์คนงานที่กักตัวบางส่วนออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก มาจับจ่ายซื้อของ รวมถึงแอบมาตั้งวงรวมกลุ่มกันกินดื่ม ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่งกับชุมชน จึงขอเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความเข้มข้นควบคุม ช่วยเหลือคนงานให้เต็มกำลัง มิใช่โยนทุกอย่างไปที่ผู้รับเหมาช่วง 3.กลุ่มแรงงานที่ผิดกฎหมายต้องเร่งสร้างความไว้วางใจและชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มากกว่าการมุ่งจับกุม เพื่อป้องกันการหลบหนี
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายฯได้สุ่มสำรวจตลาดสด ตลาดนัด ที่จดทะเบียนถูกต้องและตลาดนอกระบบ ในพื้นที่ กทม. จำนวน 70 แห่ง ระหว่าง10-25 พ.ค.64 พบว่า ลูกค้าทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย จัดทางเข้าออกมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิกว่าร้อยละ70 มีเจลแอลกอฮอล์หรืออ่างล้างมือเป็นจุดร้อยละ77 มีการติดป้าย/เสียงตามสาย ร้อยละ81 แต่ส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องความแออัด การรักษาระยะห่างซึ่งทำได้ยาก และยังมีพ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้างส่วนหนึ่งถอดหน้ากากเวลาไม่มีลูกค้า หรือใส่ไว้ที่คาง อีกทั้งมีการวางจุดคัดกรองไม่ครอบคลุมทุกจุดเข้าออก บางแห่งเครื่องวัดอุณหภูมิใช้งานไม่ได้ ที่น่าห่วง ร้อยละ85 ขาดการคัดกรองบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เพราะอุปกรณ์วัดอุณหภูมิถูกเก็บไป นำมาใช้จริงเฉพาะเวลาลูกค้ามาตลาด ส่วนช่วงเวลาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาตลาด(ก่อนเวลาทำการค้าขาย) แทบไม่มีการตรวจวัด

“เครือข่ายฯ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรีและ ศบค.ดังนี้1.ขอให้ ศบค.เร่งตรวจโควิด-19 ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างในตลาด จัดหาวัคซีนให้กับคนกลุ่มนี้ พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา พ่อค้าแม่ค้า ตลาดที่ถูกคำสั่งปิด กำหนดระยะเวลาจัดการตามมาตรฐานสาธารณสุข ฟื้นฟูตลาดเพื่อกลับมาเปิดได้โดยเร็ว 2.เคร่งครัดมาตรการจำกัดทางเข้าออก คัดกรองวัดอุณหภูมิ ไม่ใช่แค่คัดกรองแค่ผู้ซื้อ และขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสตลาดที่ขาดความรับผิดชอบ3.ขอให้กรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดเร่งสำรวจตลาดที่อยู่นอกระบบ เพื่อให้เข้าสู่ระบบ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโควิด-19 เช่นเดียวกับตลาดที่ขึ้นทะเบียน อย่างไม่เลือกปฏิบัติ” นายชูวิทย์ กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.