มทร.ธัญบุรี พัฒนา พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อม “เศรษฐกิจ-ชุมชน-สังคม” ด้วยบีซีจีโมเดล

               มทร.ธัญบุรี พัฒนาพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งคิด สร้างสรรค์ และแสดงผลงาน โดยเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคม ด้วยนวัตกรรมบนฐานบีซีจีโมเดล พร้อมร่วมเปิดศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT

                รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า มทร.ธัญบุรี ได้มีนโยบายในการยกระดับและมุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ด้วยนวัตกรรมบนฐาน Bio-Circular-Green Economy หรือบีซีจีโมเดลจึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่แหล่งคิด แหล่งสร้างสรรค์และแสดงผลงานที่เป็นรูปธรรม และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิที่ผ่านมานั้น เพื่อขยายผลการดำเนินงาน และประชาสัมพันธ์ ผลงานนวัตกรรมบนฐานซีจีโมเดลผลงานผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนภายใต้กิจกรรมมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T for BCG) และการรังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิสู่สังคมไทย มทร.ธัญบุรี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และธาราบางคล้ารีสอร์ท ในการเปิดศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT (ศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี) ณ ธาราบางคล้ารีสอร์ท อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมี รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ มทร.ธัญบุรี ให้การต้อนรับ

            ด้าน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า วันนี้มีโอกาสที่ดีในการมาเยี่ยมชม ศึกษา และแลกเปลี่ยนที่ธาราบางคล้ารีสอร์ท จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญและเป็นตัวอย่างที่ดีในการผูกโยงแนวคิดนวัตกรรมบนฐาน Bio-Circular-Green Economy หรือบีซีจีโมเดล ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และในระยะหลังมาได้นำเชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิศึกษา นับว่าทุกพื้นที่ของธาราบางคล้ารีสอร์ทได้สร้างบรรยากาศและภูมิทัศน์ด้วยบีซีจีโมเดลเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันยังให้ 2 มหาวิทยาลัยได้มาใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการเชื่อมโยงเรื่องราวด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ผ่านการร้อยเรียงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายชุมชน สังคม ธุรกิจ รวมถึงสินค้าและบริการใหม่ ๆ ในอนาคตได้

“ศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ BCG Innopolitan by RMUTT หรือที่เรียกว่า ศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาผืนแผ่นกินสุวรรณภูมิให้มีความสมดุลของธรรมชาติตามหลักบีซีจีโมเดล สำหรับศูนย์นวัตกรรมสถาน มทร.ธัญบุรี เป็นศูนย์ที่แสดงผลงานในพื้นที่ดำเนินการจริง (Social Lab) ของนักศึกษา คณาจารย์ เพื่อการยกระดับวัฒนธรรม สู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีการจัดนิทรรศการผลงานวิชาการ การเปิดร้านค้าแสดงสินค้าที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้มีส่วนร่วมกับท้องถิ่น และเครือข่าย รวมถึงการบูรณาการกับท้องถิ่นและการบูรณาการเชื่อมโยงระดับชาติ ซึ่งร่วมมือกันหลายคณะ คือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะการแพทย์บูรณาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คาดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วนั้น จะสามารถเป็นต้นแบบของการสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้และการมีส่วนร่วม ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อความเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวสรุป.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.