SCG ผนึกกำลัง CAS ICCB เสริมแกร่งด้านเทคโนฯ-นวัตกรรม 5 อุตสาหกรรม หวังสู้ได้ในอุตสาหกรรมไทย-จีน

CAS จับมือ SCG ผ่าน สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS ICCB) พัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 5 อุตสาหกรรม คือ เมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง ธุรกิจพลังงานใหม่ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” เป็นครั้งแรกในไทย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ในการลงนามความร่วมมือเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างเอสซีจีกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences – CAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของจีน ได้เริ่มต้นความร่วมมือกับเอสซีจี ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) – CAS ICCB)  ถือเป็นโอกาสอันดีของ 2 องค์กร มีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้น ซึ่งในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก  ฯพณฯ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย โดยจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ 2 องค์กรในการพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรงนี้

 “เอสซีจีเล็งเห็นว่าการสร้างความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เอสซีจีมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ทุกรูปแบบการใช้ชีวิต เม็ดพลาสติกที่มีความแข็งแรงแต่ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาการก่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากปี 2561 ที่ผ่านมา ว่าเอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม”

ตัวอย่างนวัตกรรมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

เอสซีจีได้เริ่มต้นความร่วมมือผ่านทางสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) – CAS ICCB) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต ผ่านการดูงานในสถาบันวิจัยและบริษัทด้านเทคโนโลยี การสรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่าง ๆ และการนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้เพื่อต่อยอดในอนาคต (Proof Of Concept – POC) เช่น Sensor / IoT อาคารและโรงงานอัจฉริยะ และการจัดการมลพิษ เป็นต้น

ด้าน ดร. เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า  ความร่วมมือกับเอสซีจีในครั้งนี้  CAS ICCB คาดหวังว่าจะเป็นเซ็นเตอร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และยกระดับของประชาชนไทยให้มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีขั้นสูงใช้ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างนวัตกรรมกลุ่มเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง

 “CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ซึ่งมีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน นักวิจัยและทีมงานกว่า 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโสมากกว่า 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง”  

ตัวอย่างนวัตกรรมกลุ่มเมืองอัจฉริยะ

ดร. เจียง เปียว กล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสานต่อการสร้างแพลทฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงเอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมของไทยและภูมิภาคอาเซียน เข้าสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก ทั้งจาก CAS และเครือข่ายอื่น ๆ ในประเทศจีน โดยมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั่วโลก และตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น อาคารอัจฉริยะ (Smart building) การบริหารพลังงาน (Energy management) 2.) ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics) 3.) เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Chemicals) 4.) ธุรกิจพลังงานใหม่ (New energy business) เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และ 5.) สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environment and sustainability)

ตัวอย่างนวัตกรรมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

CAS ICCB เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของทั้งไทยและจีน จากการที่ CAS จะได้มีโอกาสในการทดลองตลาดนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ภายใต้มูลค่าโครงการในระยะเริ่มต้น ที่ประกอบด้วยต้นทุนนักวิจัย เทคโนโลยี สถานที่และเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมกว่า 100 ล้านหยวน (ประมาณ 500 ล้านบาท)”

ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ดังกล่าว ประกอบด้วย

1.) การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ณ อาคาร INC2 Tower D สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยพัฒนา Open Innovation Center ของเอสซีจีบางส่วนซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ รวมถึงพื้นที่ห้องทดลองเพื่อทำวิจัยและพัฒนาต่อยอด และพื้นที่สำนักงาน ทั้งสำหรับการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับ CAS และสำหรับนักวิจัยจาก CAS โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเปิดกว้างสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ (Startup incubation and acceleration) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด เป็นต้น

ตัวอย่างนวัตกรรมกลุ่มธุรกิจพลังงานใหม่

2.) การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Technology Transfer and Licensing) ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป เช่น การนำเทคโนโลยี sensor / IoT ของ CAS มาใช้สร้างเป็นโซลูชันต่าง ๆ ของเอสซีจี เช่น Smart building หรือ Plant reliability monitoring เป็นต้น

3.) การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Joint Research Project) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี โดยนักวิจัยจากแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีกับนักวิจัยจาก CAS

4.) การเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยและจีน ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบของการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และการจัดเวิร์คช็อปในเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี หรือ CAS หรือเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ

5.) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในประเทศจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน

นายรุ่งโรจน์กล่าวสรุปปิดท้ายว่า “เอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะสามารถดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสององค์กรมาแลกเปลี่ยนและส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดอีโคซิสเท็มที่กว้างขวางขึ้น เพื่อทำให้การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบันได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจหลักของเอสซีจีที่มีอยู่ ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนได้ต่อไป”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.