เทดฟันด์ หนุน ม.วลัยลักษณ์ พัฒนาชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาโรคพืช

rpt

เทดฟันด์ สนับสนุน  บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด ม.วลัยลักษณ์ พัฒนาต้นแบบ ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล เพื่อช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สามารถใช้งานง่ายรูปแบบผงสปอร์ ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะที่ปรึกษา บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด และน.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ให้การต้อนรับ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการลงพื้นที่ติดตามโครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ณ ศูนย์ผลิตและการบริการชีวินทรีย์เกษตร ภายในม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เทดฟันด์) โดยมีเจ้าหน้าที่กองทุนเทดฟันด์ บริษัทวลัยไบโอคอนโทรล อุทยานวิทยาศาสตร์ฯม.วลัยลักษณ์ และสื่อมวลชนเข้าร่วม

น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด กล่าวว่า โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ทีเทดฟันด์ให้ทุนสนับสนุน เป็นชีวภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ทั้งพืชขาดธาตุอาหาร ความเสียหายจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่เกิดจากการดูแลพืชไม่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตพืชด้อยคุณภาพและลดปริมาณลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดทุนและขาดความยั่งยืนของเกษตรกร  ซึ่งโครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ จึงผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส มาแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบได้แก่ เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) และสารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ มาผสมกัน และผ่านการทดสอบ โดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตรว่า สามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค อาทิ โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ ฯลฯ ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่าง ๆ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น และยังสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด ที่สำคัญปลอดภัย ทั้งต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมระดับสากลตามมาตรฐานองค์กร Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน Good Laboratory Practice (GLP) จากต่างประเทศ ดังนั้น ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส  จึงเป็นนวัตกรรมชีวภัณฑ์ที่สุดล้ำและตอบโจทย์เกษตรกรมากที่สุดในปัจจุบัน

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ TED Youth Startup กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี มีการสนับสนุนทุนใน 2 โปรแกรม หลัก คือ 1. Ideation Incentive Program (IDEA) สนับสนุนทุนมูลค่า 100,000 บาท เป็นรูปแบบทุนให้เปล่าเพื่อให้ผู้ประกอบการได้พิสูจน์แนวความคิดและความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ต่อมาคือ 2. โปรแกรม Proof of Concept (POC) โดยโปรแกรมนี้ จะสนับสนุนทุนตั้งแต่ 750,000-1,500,000 บาท เป็นรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความเป็นไปได้ด้านการตลาด

และในปีงบประมาณ 2567 เทดฟันด์ มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติให้ เทดฟันด์ ดำเนินโครงการ TED Matching Fund ผ่านกลไกความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  โดย โครงการ TED Matching Fund จะสนับสนุนงบอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เติบโตในระยะ Seed ถึง Series – A วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท/ต่อโครงการ เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจให้เติบโต โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการร่วมลงทุนและการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ร่วมลงทุนที่ขึ้นทะเบียนกับเทดฟันด์เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งผู้ขอรับทุนจะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 5 ปี และเมื่อผู้ประกอบการดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และเป็นไปตามตัวชี้วัดของโครงการที่วางไว้ ผู้รับทุนต้องส่งคืนเงินตามมูลค่าที่ได้รับการสนับสนุน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่ผู้ให้ทุนกำหนด ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://tedfund.mhesi.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมได้ที่ Line OA : @tedfund

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.