16 ธันวาคม 2564 – เปิดให้ชมอย่างเป็นทางการแล้วกับนิทรรศการ “เปลือย” โดยศิลปิน เชาว์วุฒิ ชลชลาธาร ผู้นำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับศิลปะได้อย่างลงตัว งานนี้ได้ร่วมมือกับ Fuji Film Thailand โดยบรรยากาศในงานเปิดนิทรรศกา มีสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ร่วมด้วยมร. มาซาอากิ ยานากิยะ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานแห่ง FUJIFILM Business Innovation (Thailand) Co., Ltd. พร้อมด้วยคุณกิตติ พรพิพัฒน์วงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Marketing Manager GCS Marketing & Business Planning บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดีและให้คำแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เข้ามามีส่วนร่วมในนิทรรศการนี้
Naked Exhibition โดย เชาว์วุฒิ ชลชลาธาร เปิดให้ชมฟรีถึง 16 มกราคม 2565 ที่ RCB Photographers’ Gallery 1
ชั้น 2
นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 5 โซน เพื่อเล่าถึงนิยามคำว่า “เปลือย” ที่เผยให้เห็นความจริง ความเสื่อม ความแปรเปลี่ยน ตั้งแต่อัตลักษณ์ ผิวหนัง เนื้อ กระดูก และ นามธรรม
พอร์ตเทรตบุคคลแล้วจะมีการนำพอร์ตเทรตสัตว์ แร่ธาตุ และงานนามธรรม มาสอดแทรกในนิทรรศการเพื่อแสดงถึงความเสมอภาคของสรรพสิ่ง หากมองเรื่องความเสื่อมสลายในแง่ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา หรือศาสนา ทุกสรรพสิ่งจะเสมอกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเชื่อมโยงของชีวิต วัตถุ และ พลังงาน สิ่งมีชีวิตสลายกลายเป็นแร่ธาตุ จากแร่ธาตุถือกำเนิดกลายเป็นชีวิต สิ่งเหล่านี้ แสดงถึงความแปรเปลี่ยนกลับไปกลับมาเป็นวงจรแห่งการเกิดดับ
โซนที่ 1 อัตลักษณ์
“อัตลักษณ์” หรือ “ตัวตน” คือสิ่งที่บอกถึงความเป็นเรา คือสิ่งที่เราพยายามค้นหา หรือบางครั้งก็พยายามสร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่จดจำ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไปทั้งชีวิต
เมื่อคุณเข้ามาในห้องนี้ คุณจะได้พบกับภาพพอร์ตเทรตของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ซึ่งมีอัตลักษณ์อันโดดเด่น อาทิ นักกีฬา ดารา เซเลบริตี้ ศิลปินใช้งานจิตรกรรมผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์ดิจิทัล เทคนิคการพิมพ์ฟอยล์ที่เล่นกับแสง รวมถึงภาพพอร์ตเทรตสัตว์ที่สร้างจากการสาน
โซนที่ 2 ร่างกาย
ศิลปินชวนให้คุณเปลือยเปลือกนอกที่ห่อหุ้มเราไว้และใคร่ครวญถึงสิ่งที่อยู่ภายใต้เปลือกนั้น “ร่างกาย” คือสิ่งถูกสร้างมาพร้อมตัวเรานับตั้งแต่วันแรกที่เราถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้ ศิลปินตั้งคำถามว่าหรือแท้จริงแล้วร่างกายของเราคือตัวตนที่แท้จริงของเรา? ตัวตนที่เราซุกซ่อนไว้ภายใต้เสื้อผ้า? ศิลปินได้นำลวดลายของหนังสัตว์ ผิวของใบไม้ และดิน ผสานลงไปในภาพเปลือยของมนุษย์ เพื่อสื่อถึงความเท่าเทียมกันของทุกสรรพสิ่ง นอกจากนี้ยังมีการนำเส้นผมเข้ามาร้อยกับชิ้นงาน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้นเส้นผมได้บรรจุ DNA ที่แสดงลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อผิวหนังย่อมมีวันเหี่ยวย่น สีผมย่อมเปลี่ยนสี และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มทำให้ DNA เปลี่ยนแปลงไป สิ่งเหล่านี้บ่งบอกตัวตนที่แท้จริงของเราได้แน่หรือ?
โซนที่ 3 กล้ามเนื้อ
คุณอาจรู้สึกไม่สบายใจนักเมื่ออยู่ในห้องนี้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของตัวคุณ เมื่อคุณลองเปลือยผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกายออก
คุณจะพบกับชั้นกล้ามเนื้อ ศิลปินนำเสนองานประติมากรรม “กล้ามก่อสลาย” ซึ่งแสดงให้เห็นอนาโตมี่อันซับซ้อนของร่างกาย ศิลปินใช้ทั้งเทคนิคการปั้นและเทนิคการสานเพื่อให้เห็นเส้นใย คุณพร้อมจะเปลือยลึกไปมากกว่านี้หรือยัง?
โซนที่ 4 กระดูก
“กระดูก” คือสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากได้เปลือยกล้ามเนื้อทั้งหมดออก ศิลปินได้นำเสนอศิลปะจัดวาง (Installation) “กองกะโหลก” โดยได้นำซากกะโหลกสัตว์ ซากกะโหลกคน มาคละเคล้ารวมกัน จนแทบไม่ปรากฎอัตลักษณ์ในอดีตใดๆหลงเหลืออยู่ เมื่อคุณยืนอยู่ต่อหน้ากองกะโหลกนี้ ศิลปินขอให้คุณหยุดความกังวลทั้งหมด หายใจเข้าลึก ๆ ใช้เวลาสักครู่ เพราะกระดูกคือสิ่งรูปธรรมสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และนี่คือการอำลาครั้งสุดท้ายในฐานะมนุษย์
โซนที่ 5 นามธรรม
“ความรู้สึกนึกคิด ความเป็นตัวเรา จะยังคงอยู่หรือไม่ เมื่อชีวิตเราดับสูญไป?” ศิลปินเพียรแสวงหาคำตอบของคำถามนี้ แต่ยิ่งหาคำตอบ กลับยิ่งเกิดคำถาม “อาจจะมีอยู่แต่ก็ไม่ถาวร?” หรือ “อาจจะดับสูญไปอย่างถาวร?” แต่คำตอบที่ศิลปินได้รับคือ
“ความว่างเปล่า”
ศิลปินสื่อสภาวะที่ไร้ซึ่งคำตอบนี้ด้วยภาพนามธรรมที่ผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์อันหลากหลาย อาทิ การพิมพ์ที่นำใบไม้มาอัดลงในดิน นอกจากนี้ยังมีภาพการแตกของหน้าจอมือถือซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเสื่อมสลายของวัตถุต่างๆที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน
และนี่คือการเปลือยขั้นสุดท้าย คุณได้คำตอบหรือยัง หลังจากชีวิตของคุณจบลงแล้ว
“คุณคือใคร”
เทคนิคการพิมพ์ที่ใช้ทั้งหมด
การนำนวัตกรรมเรื่องการพิมพ์ มาสร้างสรรค์งานศิลปะ มีมาทุกยุคทุกสมัย ปรากฏตั้งแต่ยุคหิน คือพิมพ์ภาพลงผนังถ้ำ และถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ในยุคที่สำคัญที่สุดคือการทำบล็อกไม้จากชาวจีน คศ.220 และศตวรรษที่15 มีการใช้บล็อกเหล็กที่ประดิษฐ์โดยชาวเยอรมันซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการพิมพ์ แต่ที่เด่นชัดมากที่สุดในแง่งานศิลปะ คือ การใช้เทคนิคการสกรีนของแอนดี้ วอฮอล์ ผู้ก่อตั้ง Fespa ซึ่ง เป็นแรงบัดาลใจให้กับผมในการสร้างสรรค์ผลงาน
- Collage คอลลาจ เทคนิคการปะติด เป็นวิธีพื้นฐานที่ศิลปินส่วนใหญ่นำงานพิมพ์มาสร้างงานศิลปะ โดยในงานจะใช้การปะติดสื่อสารในเรื่องของการก่อตัวและความไม่สมบูรณ์ และการฉีกขาดสื่อสารในแง่ของความเสื่อม
- Foil Heating การพิมพ์ฟอยล์ลงในงานเพ้นท์ เนื่องจากฟอยล์จะเล่นกับแสง จึงใช้สื่อสารในเรื่องของอัตลักษณ์บุคคลสำคัญ และ ในเซ็ต Anatomy บางมุมมองจะเห็นเฉพาะฟอยล์ที่สะท้อนแสงและบางมุมมองก็จะเห็นภาพเพ้นท์จริง
- Weaving การสานโดยการนำเอาภาพถ่าย มาสานเข้ากับงานเพ้นท์ ผสมผสานระหว่างงานดิจิทัลกับงานฝีมือเข้าด้วยกัน โดยการสานภาพจะทิ้งร้องรอยของการก่อตัวและความไม่สมบูรณ์ไว้
- Print on Emboss Paper การพิมพ์ลงกระดาษอัดลาย โดยนำกระดาษอัดเป็นลายหนังสัตว์มาพิมพ์ทับ ด้วย Dry Toner เพื่อขับลายหนังสัตว์ให้ชัดขึ้น ซึ่งได้นำมาอัดลงดินในงานเซทผู้หญิงเปลือย เพื่อสื่อสารถึงความเสมอภาคในแง่ความเสื่อมของทุกชีวิต
- Fake Dry Leaves การพิมพ์เลียนแบบใบไม้แห้ง ใช้กับงานหลายชุด นำมาอัดลงกับดิน สื่อสารเรื่องของการแปรเปลี่ยน และเสื่อสลาย
- Blood Stains คราบเลือด เป็นการนำผ้ามาพิมพ์ด้วยหมึกผง แล้วขยี้กับน้ำให้แตกตัว จะได้เอฟเฟคที่เหมือนคราบเลือด ใช้ทำกรอบงานเซ็ท Anatomy
- Broken Screen การพิมพ์ลายหน้าจอแตก เพื่อเลียนแบบความเสื่อมของวัตถุดิจิตอลที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
- Crystal Reflect การนำงานพิมพ์ ไปเล่นกับการหักเหของแสงของคริสตัล เพื่อให้เกิดลวดลายในคริสตัล และคริสตอลจะอยู่ในโพรงของท้องกวาง สื่อสารในเชิงการแปรสภาพกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งมีชีวิตและธาตุต่างๆ
9) Fake Dry Rose กุหลาบปลอมแห้ง ใช้กับงานประติมากรรม เพื่อสื่อสารเรื่องความงามกับความเสื่อม
10) Combine Print and Clay การนำงานพิมพ์ มาผสมผสานกับงานปั้นอนาโตมี่ส่วนศีรษะ เพื่อให้เกิดมิติ เฉดสี และแสดงถึงร่องรอยการก่อตัวและความไม่สมบูรณ์
เกี่ยวกับศิลปิน
เชาว์วุฒิ ชลชลาธารเติบโตในครอบครัวที่ชอบงานศิลปะ เริ่มชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งวาดรูป จนไปถึงสอนศิลปะ โดยวัยเด็กเริ่มจากการวาดสัตว์ปะหลาด ซุปเปอร์ฮีโร่ จากนั้นเริ่มหันมาสนใจการวาดพอร์ทเทรทคนและสัตว์ และงานกึ่งนามธรรมเป็นหลัก
ในช่วงวัยรุ่นเขาได้เห็นการจัดแสดงกายวิภาค โดยนำศพจริงๆ มาแยกส่วน เห็นชั้นกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบภายใน เราเริ่มสัมผัสถึงสุนทรียภาพของกายวิภาค แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นถึงความเสื่อม ความแปรเปลี่ยน ของร่างกาย และเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกิดมาของชีวิต จึงทำให้เขาเริ่มหาความรู้ ด้านแนวคิด ปรัชญา เกี่ยวกับความจริงของชีวิต และหาคำตอบว่าเราคืออะไร
ร่างกาย ความคิด ความจำ หรือ การรับรู้สภาพต่างๆ ทั้งหมดนี้ประกอบให้เราเป็นเราหรือไม่? ถ้าสิ่งเหล่านี้เสื่อมสลายได้
ความเป็นเราจะอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งคำถามเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกถึงความไม่มีอัตตาโดยสะท้อนผ่านงานศิลปะ
ปกติงานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์จะไม่ได้เล่าถึงคอนเซ็ปต์ใดๆ เพราะไม่ได้ทำงานดีไซน์ ไม่ต้องตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาเพราะนั่นคือการลดคุณค่าของงานศิลปะ งานศิลปะจะออกมาจากความรู้สึก เราแค่ซื่อตรงกับงาน ความเป็นปัจเจกจะออกมาเอง โดยสุนทรียภาพของศิลปินแสดงออกมาผ่านทางองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ เทคนิคที่เกิดจากการทำซ้ำจนร่างกายเกิดความเคยชิน รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะมีแนวคิดของศิลปินแฝงอยู่แล้วโดยไม่ต้องพยายาม
เทคนิคการทำงาน เชาว์วุฒิชอบทำงานศิลปะเชิงทดลอง เพ้นท์จากอุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงใช้นิ้วมือ ใช้วัสดุแปลกๆ มาสร้างสรรค์งาน ด้วยความที่เติบโตมากับโรงพิมพ์ ทำให้เริ่มคุ้นชินกับใช้วัสดุต่างๆ จากโรงพิมพ์มาสร้างสรรค์งาน ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ เราอาศัยประสบการณ์จากการเป็นช่างพิมพ์ การประกวดสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้ได้เห็นว่านวัตกรรมทางการพิมพ์หลายส่วนสามารถนำมาสร้างสรรค์ความงามในงานศิลปะได้ โดยนำมาผสมผสานกับการทำงานเพ้นท์ติ้ง และประติมากรรม ออกมาเป็นสื่อผสม โดยงานทั้งหมดถูกจำแนกออกเป็น 5 โซน
ค้นหาคำว่า ‘เปลือย‘ ผ่านงานศิลปะและนวัตกรรมได้ในนิทรรศการ Naked Exhibition
โดย เชาว์วุฒิ ชลชลาธาร เปิดให้ชมฟรีถึง 16 มกราคม 2565 ที่ RCB Photographers’ Gallery 1 ชั้น 2