“แอลกอฮอล์วอช” ไม่ค้านปลดล็อคผลิตน้ำเมา ลดการผูกขาดทุนใหญ่ ทุนข้ามชาติ จี้ ส.ส.ในสภา ถกมาตรการคุ้มครอง สุขภาพ-สังคม

            เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร 21 คน ได้อภิปรายร่างแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิต ที่เสนอโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้การผลิตสุราทำได้ทั่วไป ใครทำก็ได้ และยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตฯ เกี่ยวกับขนาดกำลัง การผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือ ประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต รวมทั้งหากจะตั้งบริษัทจะไม่มีการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างสนับสนุนเห็นด้วยกับร่างนี้ถึง 20 คน มีผู้คัดค้านเพียง 1 คน โดยหลักการทางเครือข่ายฯ ไม่ติดใจที่จะให้มีการแก้ไขกฎระเบียบการผูกขาดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการผูกขาด เปิดโอกาสให้รายย่อยลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ช่วยให้เกิดความเท่าเทียม ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ จุดนี้ในหลักการเราสนับสนุน  แต่รัฐหรือรัฐสภาฯ ต้องมีมาตรการรองรับลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมิติทางสาธารณะสุขและสังคมด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ใช่มองแต่ในทางเศรษฐกิจด้านเดียว

            “ผมเสนอว่าเมื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การผลิตแล้ว ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ ความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้บริการ ต่อสังคมด้วย เช่น การเพิ่มราคาใบอนุญาตผู้ผลิตตามกำลังผลิต ตามหลักการผลิตมากจ่ายมาก ผลิตน้อยจ่ายน้อย หรือใบอนุญาตขายก็ควรมีการฝึกอบรมพนักงานขายและควรมีการรับรองใบอนุญาตพนักงานขาย เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย และบริการต่อผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่คนเมาแค่ไหนก็ไม่สนใจ ไม่ประเมิน ยังขายให้อีกทั้งที่มีกฎหมายห้ามไว้อยู่แล้วแต่ไม่สนใจ สุดท้ายก็นำไปสู่ปัญหาเมาแล้วขับ เจ็บตายพิการ หรือการขาดสติไปกระทำการอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายนำมาซึ่งความสูญเสียได้” นายคำรณ กล่าว

            ด้าน นายชูวิทย์  จันทรส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า โดยหลักการเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เพราะต้องยอมรับว่านายทุนน้ำเมาขาใหญ่ในบ้านเราและทุนน้ำเมาข้ามชาติเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหารบ้านเมืองอย่างเห็นได้ชัด และยังเข้าไปแทรกแซงในองค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งในรูปแบบนอมินี รวมถึงการสนับสนุน แล้วใช้ตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาแฝง ซึ่งกฎหมายเดิมเอาไม่อยู่ และเงื่อนไขที่กฎหมายสรรพสามิตเดิมกำหนดไว้ก็เอื้อกับทุนใหญ่จริง ยากที่รายเล็กรายน้อยจะเกิดหรือแข่งขันได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ต้องยอมรับความจริงว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา แต่เป็นสินค้าที่มีผลกระทบซึ่งทุกฝ่ายต่างรู้ดี เมื่อผลิตมาก ขายมาก ย่อมมีอัตราการดื่มมาก และผลกระทบย่อมมากตามไปด้วย 

            “ในระดับโลกพบว่า ทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์มากกว่า 3 ล้านคน ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายเรื่องNCDs Global Action Plan 2025 ให้ทุกประเทศลดปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ 10% โดยกำหนดตัวชี้วัดให้ลดความชุกของการดื่มต่อประชากร ลดสัดส่วนการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ต่อประชากร เป็นต้น ส่วนประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค NCDs จำนวนมาก และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตของคนไทย โดยพบว่าโรคมะเร็ง หลอดเลือดในสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน พบการเสียชีวิตรวมกว่า 150,000 ราย ซึ่งโรคเหล่านี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญของการเสียชีวิต” นายชูวิทย์ กล่าว  

            นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการทำงานเพื่อแก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กว่าจะทำให้คนเลิกเหล้าได้ 1 คนนั้น ต้องใช้เวลาและสรรพกำลังมากมาย เพราะปัญหามีความซับซ้อน ต่อให้เราทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่สามารถลดปัญหานี้ได้มากนักเพราะฝ่ายคนผลิต คนขายยังลอยตัวเหนือปัญหา สร้างวาทกรรมที่โยนความรับผิดชอบให้เป็นของผู้ดื่ม แต่แทบไม่เห็นความพยายามในการดึงผู้ผลิต ผู้ขายเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ตนจึงอยากเห็นพรรคการเมือง ส.ส.ในสภาฯ ช่วยกันคิดหามาตรการลดผลกระทบให้จริงจังกว่านี้ โดยศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน สก็อตแลนด์ สวีเดน รวมถึงมาตรการจำกัดใบอนุญาตขายตามสัดส่วนจำนวนประชากร เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีใบอนุญาตขายเกือบ 6 แสนใบ ถือว่ามากที่สุดในโลก

            “ย้ำว่าอย่ามองแต่ด้านดีของกฎหมายให้ผลิตได้อย่าง เสรีอย่างเดียว ถึงเวลาต้องควบคุมลดจำนวนให้มีผู้ขายที่มีคุณภาพ สร้างปัญหาน้อย มากกว่ามุ่งเน้นปริมาณ” นายชูวิทย์ กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *