คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อร่วมพัฒนาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมด้วยคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลง จัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม (ชั้น 1) อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต
ศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กับสภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดขึ้นด้วยความตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันนี้มีปัญหาและความซับซ้อนมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะในเรื่องการทำสัญญา หรือการซื้อขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น ผู้บริโภคเองก็อาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการทำสัญญาสำเร็จรูปทางออนไลน์ที่เป็นการตัดโอกาสผู้บริโภคในการเจรจาต่อรอง หรืออาจตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวง หรือฉ้อโกงได้ง่ายขึ้น อย่างที่เห็นเป็นข่าวในทุกวันนี้
“คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีความยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางสภาองค์กรของผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในด้านของการสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการสนับสนุนให้นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับทางสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยในระดับปริญญาตรี จะมุ่งเน้นเรื่องการฝึกงานกับทางสภาองค์กรของผู้บริโภค การเผยแพร่ความรู้ และให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ประชาชนที่มีปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค สำหรับระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จะมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการผ่านการทำวิทยานิพนธ์ หรือสารนิพนธ์ของนักศึกษา เป็นการสร้างนวัตกรรมทางกฎหมายเพื่อให้ทันต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น” คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าว
คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการที่มีกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อน โดยอาศัยความไม่รู้หรือไม่เท่าทันของผู้บริโภค ทำให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีการตื่นตัวและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขปัญหา รวมถึงมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อให้มีพลังในการเรียกร้องสิทธิของตนจนสามารถทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุอีกว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 48,176 เรื่อง และช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหรือฟ้องร้องเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน นอกจากการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคแล้วนั้น ยังได้ร่วมมือและเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และพรรคการเมือง โดยมองว่าทุกภาคส่วนมีหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกันเพื่อเดินหน้าผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งและยั่งยืนผ่านแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน แต่เป็นการสนับสนุนให้ทุนเกิดการแข่งขัน เมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น คนที่ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภคและทุน
“อย่างไรก็ตาม คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างสภาผู้บริโภคและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พัฒนาการทำงาน รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลในการประชาสัมพันธ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขหรือยกร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองกับผู้บริโภคเพื่อให้เท่าทันต่อสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด และสร้างองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติม