ม.รังสิต เปิดหลักสูตรใหม่ ครอบคลุมทุกมิติสร้าง “นักชรัณสุขศาสตร์” สู่อาชีพ “นักจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุ”

                คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย มุ่งสร้าง “นักชรัณสุขศาสตร์” นักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุ โดยผสมผสานความรู้จากหลายศาสตร์ อาทิ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ฯลฯ ให้มีทักษะสามารถปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติ

                ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลักสูตรชรัณสุขศาสตร์เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เล็งเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่วัยทำงานและวัยเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นจึงขาดคนดูแล มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเปิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้น โดยมุ่งที่จะสร้างนักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุที่สามารถผลิตผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่เรียกว่า “นักชรัณสุขศาสตร์” ที่มีความสามารถในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุแบบองค์รวมครอบคลุมทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ และมีความสามารถด้านการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ โดยผสมผสานศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์ ร่วมกับศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ ภาษาศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมสูงวัยในปัจจุบันและอนาคต

                “ปัจจุบันคนดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักไม่ได้ผ่านการอบรมต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีความรู้มากพอที่จะดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ซึ่งผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงอายุที่มากขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก และที่สำคัญผู้สูงอายุแต่ละคนก็จะมีความหลากหลายกับการเปลี่ยนแปลงมากแบบเฉพาะตน ฉะนั้น ผู้สูงอายุจึงต้องการคนที่เข้าใจความเป็นผู้สูงอายุของแต่ละบุคลที่จะเข้ามาดูแลเขาได้เป็นอย่างดี ที่จะคอยช่วยเหลือเขา ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการคือ 1. คนที่เข้ามาจะต้องดูแลเขาได้ 2. คนที่เข้ามาดูแลเขาต้องเป็นเหมือนผู้จัดการสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุได้ ซึ่งการดูแลในส่วนนี้อาจจะไม่ได้ดูแลแค่ในส่วนของสุขภาพเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะรวมไปถึงสภาวะของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ส่วนบุคลอีกด้วย เช่น เงินออม การออกแบบที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งในเรื่องของกฏหมาย การวางแผนชีวิตที่ดีหลังเกษียณ เป็นต้น ซึ่งคนที่มีองค์ความรู้แบบนี้คือคนที่ผู้สูงอายุต้องการ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรที่ผลิตคนขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุที่มีองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในหลายๆ มิติ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพเพียงอย่างเดียว

                อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้เป็นการรวมองค์ความรู้ที่หลากหลายจากคณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทยศาสตร์ กายภาพบำบัด พยาบาลศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการออกแบบ รวมไปถึงความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เพราะเราต้องการคนที่มีมุมมองในเรื่องของสุขภาพที่ไม่ใช่แค่เรื่องของโรคอย่างเดียว  แต่รวมไปถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายคณะที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสอนนักศึกษาในหลักสูตรตลอด 4 ปี ทั้งนี้ ในด้านของวิชาที่เรียนนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย อย่างเช่นทักษะการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องเรียนแน่นอนในภาพรวมทั้งหมดที่เรียกว่า Caregiver คือผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุ มีการฝึกงานในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ และฝึกงานในสถานบริการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิทัศน์ของผู้สูงอายุ เพื่อให้เห็นว่าผู้สูงอายุนั้นมีความหลากหลาย มีการพัฒนา มีการเติบโตทางจิตวิญญาณ รวมไปถึงในเรื่องของแฟชั่น การดีไซน์ออกแบบเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งการเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับความสมาร์ทของผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุนั้นมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ก็มีการเรียนรู้ในเรื่องของกฏหมาย และอีกหนึ่งสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากที่สุดคือ วิชาสันติในชีวิต ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในชีวิต และถ้าจะต้องจากไปก็จากไปแบบสงบได้ ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว จะเปิดรับสมัครนักศึกษาในภาคการศึกษา 1/2564” คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา กล่าวเสริม

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.