ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 21 สถานประกอบการ ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนสหกิจศึกษาฯ

ศูนย์สหกิจศึกษาฯ ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 21 สถานประกอบการจากทั่วประเทศ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสหกิจศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) ประจำปี พ.ศ.2565 ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการจากบริษัทเอกชน อุตสาหกรรม โรงแรมและหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 21 แห่ง เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน พัฒนาทักษะวิชาการและวิชาชีพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน พร้อมรองรับการปฏิบัติสหกิจศึกษา 8 เดือน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รักษาการแทนรองอธิการบดี อาจารย์ ดร.อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาฯ ตลอดจนผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของ ม.วลัยลักษณ์ และสถานประกอบการ ร่วมกันเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวในพิธีลงนามว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสถานประกอบการ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่ “เก่งวิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้” ที่สำคัญจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตกำลังคนของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้ประกาศ CWIE Platform และเป้าหมายการขับเคลื่อน CWIE

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำระบบสหกิจศึกษามาใช้ตั้งแต่มีการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเป็นต้นมา โดยได้จัดส่งนักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษาครั้งแรกในปีการศึกษา 2544 จำนวน 495 คน ในสถานประกอบการ จำนวน 269 หน่วยงาน ปัจจุบันมีสถานประกอบการในเครือข่ายสหกิจศึกษากว่า 3,000 สถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศ และในปีงบประมาณ 2565 มีนักศึกษาสหกิจศึกษา จำนวน 1,799 คน ปฏิบัติงานในสถานประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และเพื่อให้การจัดสหกิจศึกษาเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นักศึกษามีความเชี่ยวชาญและความชำนาญเพิ่มขึ้น อีกทั้งสถานประกอบการได้ประโยชน์จากการทำงานของนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติสหกิจศึกษา จากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา

“หลังจากการปรับรูปแบบสหกิจศึกษาเป็น 8 เดือน ทำให้นักศึกษาของ ม.วลัยลักษณ์ มีความพร้อมในการทำงาน ผู้ประกอบการเองมีความพึงพอใจในคุณภาพบัณฑิตของเราที่คุณลักษณะสู้งาน หนักเอาเบาสู้ ขยัน อดทน มีความตั้งใจและใส่ใจทำงาน ทำให้หลายสถานประกอบการมีการจองตัวทำงานต่อได้เลย ทั้งนี้ในอนาคตคาดว่าระบบสหกิจศึกษา 8 เดือน จะส่งผลต่อโอกาสการได้งานทำในสถานประกอบการที่ไปปฏิบัติสหกิจศึกษาเพิ่มมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

สำหรับ 21 สถานประกอบการที่ร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีออยล์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด บริษัท อีส โปรดักส์ชั่น สตูดิโอ จำกัด บริษัท วายเคพี โอเชี่ยน เซอร์วิส จำกัด บริษัท สอบบัญชี ดีไอเอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ตรวจสอบบัญชี เจ.อาร์.ที จำกัด บริษัท สยาม ไอที เน็ทเวิร์คกิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด นครศรีสเตชั่น ดอท คอม โรงแรม พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพ บริษัท ศรีพันวา แมเนจเมนท์ จำกัด โรงแรม นาวากีเทลดีไซน์ โฮเทล โรงแรม ดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท โรงแรม ทวินโลตัส การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่าศาลา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

http://www.wu.ac.th


You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.