PwC ประเทศไทย จัดงานวิ่งการกุศลฉลองครบรอบ 60 ปี มอบรายได้ให้รพ.จุฬาฯ

PwC ประเทศไทย เครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ประกาศจัดงานวิ่งการกุศล “Restore Vision, Run for Sight” ในวันอาทิตย์ที่ 22กันยายน 2562 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคของ PwC ประเทศไทย จะมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาโรคจอตาลอก

นายบุญเลิศ กมลชนกกุล

นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วน และหัวหน้าฝ่ายงาน Clients and Markets บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าววิ่งการกุศลครบรอบ 60 ปีภายใต้ชื่อ “Restore Vision, Run for Sight” ว่า เนื่องในโอกาสที่ PwC ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 60 ปีในปีนี้ บริษัทฯ จึงมีแผนจัดงานวิ่งการกุศล “Restore Vision, Run for Sight” ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตรพร้อมด้วยเงินบริจาคของ PwC ประเทศไทย มอบให้แก่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำไปซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาจอตาลอก เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจอประสาทตาลอก

“เป้าประสงค์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของเครือข่าย PwC คือ การสร้างความไว้วางใจและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับสังคม การที่ PwC ประเทศไทย เติบโตและอยู่คู่สังคมไทยมาครบ 60 ปีได้ เรารู้สึกมีความภาคภูมิใจและต้องการเป็นองค์กรหนึ่งที่จะได้ตอบแทนสังคมและช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคมโดยรวม นี่จึงเป็นที่มาของการจัดงานวิ่งการกุศลในครั้งนี้ ซึ่งเราคาดหวังว่า เครื่องมือผ่าตัดจอตาลอก จะช่วยลดระยะเวลาการรอรับการผ่าตัดของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาลอกที่กำลังรอรับการรักษาอยู่ในเวลานี้ และช่วยเสริมศักยภาพการรักษาผู้ป่วยของภาควิชาจักษุวิทยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นาย บุญเลิศ กล่าว

ทั้งนี้ ดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ เพราะหากการมองเห็นลดลง ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ PwC ประเทศไทย จึงเลือกนำเงินรายได้และร่วมสมทบทุนบริจาคให้แก่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำไปซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาจอตาลอกเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุที่กำลังประสบปัญหาโรคจอประสาทตาลอกและโรคตาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กุลวิชิต

นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กุลวิชิต หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคจอประสาทตาลอก ถือเป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้ป่วยคนไทย เกิดจากการที่จอตาหรือชั้นเนื้อเยื่อบางๆ ด้านหลังดวงตาแยกออกจากตำแหน่งเดิม  ทำให้เนื้อเยื่อขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เซลล์รับภาพถูกทำลายจนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือทั้งหมดหากไม่ได้รับการผ่าตัดทันเวลา โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดจอตาลอก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมทั้งสิ้น 132 ราย หรือคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยโดยเฉลี่ย 3-8 รายต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันจำนวนเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกของโรงพยาบาลมีอยู่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องต่อคิวเพื่อรอรับการรักษาเป็นเวลานานถึง 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้ป่วยที่มีมากกว่าความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากทางภาควิชาจักษุวิทยา ได้เครื่องมือผ่าตัดมาเสริมศักยภาพให้กับโรงพยาบาล ก็จะทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยโรคตาได้มากขึ้น เพราะนอกจากเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกจะช่วยรักษาโรคจอประสาทตาลอกแล้ว ยังสามารถรักษาโรคตาอื่นๆ ทางจักษุวิทยา เช่น  การติดเชื้อในวุ้นตา เลือดออกในวุ้นตา เลนส์ตาเคลื่อน เป็นต้น ได้อีกด้วย และทำให้ผู้ป่วยโรคตาเหล่านี้ได้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสูญเสียการมองเห็น

“ต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารและพนักงานของ PwC ประเทศไทย ที่ร่วมกันจัดงานวิ่งการกุศลครบรอบ 60 ปี “Restore Vision, Run for Sight” เพื่อหารายได้และร่วมสมทบทุนซื้อเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกให้แก่ทางภาควิชาจักษุฯ ผมและคณะแพทย์เชื่อว่า หากเราได้เครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกเข้ามาเพิ่มจะทำให้ผู้ป่วยที่กำลังรอคิวเข้ารับการรักษาได้ผ่าตัดรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม” นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กล่าว

นาย บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมอยากจะเชิญชวนให้นักวิ่ง ผู้ที่รักสุขภาพ และผู้ที่สนใจทุกท่านมาร่วมวิ่งการกุศลครบรอบ 60 ปี “Restore Vision, Run for Sight” ด้วยกัน เพราะนอกจากที่ทุกท่านจะได้รับสุขภาพที่ดีกลับไปแล้ว ยังได้ทำบุญ และตอบแทนสังคมร่วมกันอีกด้วย ซึ่งทาง PwC ประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะนำเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตรพร้อมด้วยเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทมอบให้แก่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำไปซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาจอตาลอกต่อไป”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *