สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยด้านการเกษตร และบริหารจัดการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในระบบ ววน. ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนงานตามนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ผ่านแผนแม่บทประเด็นการเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีการส่งเสริมการผลิตเน้นตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของภาคการเกษตร สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ งานวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง ของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ (Drying Process Development of Chamomile and Chrysanthemum for Sa-Ngo Royal Project Development Center) ที่พร้อมนำทางให้เกษตรกร สร้างอาชีพ มีรายได้ และให้ความมั่นคงแบบยั่งยืน
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า เราให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบและครบวงจร ก่อให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสามารถนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับ มาตรฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
งานวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และ ดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้งซึ่งรับผิดชอบงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นโครงการที่มีการทำงานร่วมกันระหว่าง สวก. ผู้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ผู้รับทุนและดำเนินการวิจัย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เจ้าของพื้นที่และดูแลเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีโจทย์หลักของงานการวิจัยครั้งนี้ คือ การพัฒนากระบวนการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้งที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ของโครงการประมาณ 200 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ 4 ประการ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เพื่อปรับปรุงงาน พัฒนาอาชีพ และสังคมหมู่บ้านดอยสะโงะ ลดปัญหาทางด้านยาเสพติด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า เป็นแหล่งถ่ายทอดวิทยาการการเกษตรแผนใหม่ เพื่อสนับสนุนด้านเกษตรกรรมแก่หน่วยงาน และสถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย และเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับฝึกอบรมนักศึกษาเกษตรให้มีความชำนาญ ในการปฏิบัติงาน สามารถดูแลพืชและสัตว์บนพื้นที่สูงเพื่อเป็นแนวทางประกอบอาชีพต่อไป
เกษตรกรในพื้นที่จะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอีก้อและไทยใหญ่ ที่อพยพมาจากประเทศลาวและพม่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบจำนวน 5 หมู่บ้าน รวม 139 ครอบครัว ประชากร 630 คน จุดเริ่มต้น ในการแปรรูป ดอกคาโมมายล์ และดอกเก๊กฮวย (เหลืองสะโงะ) อบแห้งเพื่อจำหน่ายให้ฝ่ายการตลาดและโรงงานแปรรูปของโครงการหลวงเพื่อนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเริ่มจากโครงการหลวงสะโงะ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว แต่เนื่องจากศูนย์ฯ อยู่ในพื้นที่ต่ำ หรือสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 500 เมตร จึงไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว อีกทั้งดินยังมีความเป็นกรด จึงทำให้เกษตรกรมีพืชทางเลือก สำหรับการเพาะปลูกได้น้อย จนมีการทดลองที่ส่งเสริมให้ปลูกชาดอกไม้ (ดอกคาโมมายล์) จนพบว่าผลผลิตมีคุณภาพดี มีการแปรรูปส่งให้ฝ่ายการตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นผู้จำหน่าย ทั้งยังเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูป ให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ (ตามที่กล่าวมาข้างต้น) โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะรับซื้อดอกเก๊กฮวย จากราคา 20 บาท เพิ่มเป็น 47 บาท ต่อกิโลกรัมสด และเพิ่มราคารับซื้อดอกคาโมมายด์ จาก 50-55 บาท เพิ่มเป็น 70 บาท ต่อกิโลกรัมสด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ต่อมา เมื่อปี 2551 ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและแปรรูปดอกเก๊กฮวย (เหลืองสะโงะ) อบแห้ง ทำให้เกิดโครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง กลายเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูป ที่มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพที่มากขึ้น และถือเป็นกุญแจสำคัญในการคงคุณค่าทางโภชนาการ คงไว้ซึ่งกลิ่น รส และยืดอายุการเก็บรักษา จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยด้านอาหาร ควบคู่ไปกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เป็นการเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่าในการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้ง ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ แม้จะเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ และสร้างอาชีพให้กลุ่มสมาชิกเกษตรกร แต่ก็พบว่าไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประสิทธิภาพ ของเตาอบแห้งของศูนย์ฯ จำนวน 3 เตา มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้การกระจายความร้อนในห้องอบแห้งไม่สม่ำเสมอ มีสภาพการใช้งานที่ไม่ค่อยดีนัก และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในการสร้างลมร้อนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการอบแห้งของศูนย์ฯ ส่งผลให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเด็นในการแก้ไขปัญหาจึงแบ่งการพัฒนาเครื่องอบแห้งที่มีประสิทธิภาพ การกระจายความร้อนสูง และสามารถอบแห้งได้มากขึ้น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้ส่งนักวิเคราะห์โครงการเข้าลงพื้นที่ และร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้พัฒนาโครงการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการอบแห้งชาดอกไม้ของศูนย์ฯ โดยพัฒนาเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุนควบคุมแบบ multi-stage drying system controller (เลขที่อนุสิทธิบัตร 2003001545) ขึ้นมาใช้พัฒนาการผลิตชาดอกไม้อบแห้งของศูนย์ฯ
โครงการวิจัยได้พัฒนาตั้งแต่เป็นเครื่องอบแห้ง และปรับปรุงโรงอบให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ความปลอดภัยวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันได้รับใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่ใช่โรงงาน (เลขที่ 57-2-03263) และมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยอัตราส่วนของการอบแห้งดอกเก๊กฮวยอยู่ที่ 7 กิโลกรัมสดต่อดอกเก๊กฮวยอบแห้ง 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับดอกคาโมมายล์โดยอัตราส่วนดอกคาโมมายล์สดอยู่ที่ 6 กิโลกรัมสดต่อดอกคาโมมายล์อบแห้ง 1 กิโลกรัม และลดอัตราการใช้พลังงานได้มากกว่า 120 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดความสนใจที่จะเข้ามาประกอบอาชีพเพาะปลูกชาดอกไม้ทั้ง 2 ชนิด ทำให้มีอัตราการขยายการเติบโต มากขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้ามาร่วมปลูกชาดอกไม้ต่างๆ จากก่อนเริ่มต้นโครงการมีเพียง 10 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 ครัวเรือน ซึ่งในปีที่แล้วศูนย์ฯ สามารถอบแห้งชาดอกไม้ได้รวม 85 ตันสด และมีรายได้กลับสู่เกษตรกรมากกว่า 5.85 ล้านบาท
นายพันนุมาศ ทองกระจ่าง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เพิ่มเติมอีกว่า จากการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทดลองเพาะปลูก ปัจจุบันคาโมมายล์และเก๊กฮวยกลายเป็นพืชสมุนไพร ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ครอบครัวละ 40,000-50,000 ใน 1 ฤดูกาลผลิต (หรือตลอดระยะเวลาการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว 6 เดือน) ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีมากจากอาชีพหลักของเกษตรกร และนับว่าเป็นประโยชน์สูงสุดในการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกิดจากโครงการวิจัยฯ ไปใช้ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อดอกเก๊กฮวยและดอกคาโมมายล์อบแห้งเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนเพิ่มผลกำไรได้”
ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูป ดอกคาโมมายล์ และดอกเก๊กฮวย ผลงานจาก โครงการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง โดยการสนับสนุนทุนวิจัย ของ สวก. จึงถือเป็นการศึกษาปัญหา และการนำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ความสำเร็จที่สร้างประโยชน์บนพื้นที่สูง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้เกษตรกรรวมไปถึงชุมชน เกิดความเปลี่ยนแปลง คือ มีรายได้ มีชีวิตความอยู่เป็นที่ดี ที่สำคัญ มีความมั่นคงในอาชีพที่ยั่งยืน โดยในภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส covid เกิดภาวะตกงานจากแรงงานหนุ่มสาวที่ทำงานในเขตตัวเมืองอุตสาหกรรมหันกลับมาช่วยครอบครัวทำการเกษตร จนเกิดรายได้ สามารถเลี้ยงชีพได้ และไม่คิดที่จะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด นับเป็นความสำเร็จของการดำเนินโครงการวิจัยฯ นี้อย่างแท้จริง
ประชาชน หรือ เกษตรกรที่สนใจอยากเข้าชมผลงานการวิจัยช่วยเกษตรกรในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานเกษตร สามารถเข้าไปรับชมข้อมูลได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. https://www.arda.or.th/