เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมเวียนนา พาราไดซ์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดกิจกรรมสัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบ ยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ภายใต้ โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า-แอลกอฮอล์” โดย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย พร้อม “ดนตรีเล่าเรื่อง” จากศิลปินเพื่อชีวิต “แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่) ในสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติดชนิดอื่นได้ง่ายกว่าเยาวชนในสถานศึกษาทั่วไป และสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเยาวชนอาชีวศึกษา ยังพบอีกว่าการที่เยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง 1 อย่าง มีแนวโน้มจะเกิดพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ตามมาได้และอาจกลายเป็นพฤติกรรมติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ทำให้ สสส. มีความเป็นห่วงต่อเด็กและเยาวชนสายอาชีพที่นับว่าเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต ขณะที่สถานการณ์การบริโภคบุหรี่และยาสูบในไทย ที่แม้ว่ามีแนวโน้มโน้มลดลง แต่กลับพบจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจาะกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก
“จากผลสำรวจปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะผิดกฎหมาย แต่ก็แอบขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 และยังพบตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซองและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติโดย ร้อยละ 31.1 เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และร้อยละ 36.5 เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวอีกว่า ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ที่ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทำให้เกิดการเสพติด และอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ายังมีมากกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายเกือบ 2,000 ชนิด และนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อสูบแล้วจะเป็นไอละอองฝอยเทียบเท่าฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปทำลายสุขภาพปอดและระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเสพติดง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และงานวิจัย ยังพบว่า เด็กที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4-5 เท่า ขณะที่เด็กจะมีพฤติกรรมการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มเป็น 7 เท่า และยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นอีกด้วย”
ดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยที่พบในวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่อาจมีต้นแบบมาจากคนในครอบครัว คนในสังคม และดูเหมือนว่าทุกคนยอมรับมันว่าถูกกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ ทำให้การเข้มงวดกวดขันกับเด็ก ๆ อาจจะมีความยุ่งยาก แต่ไม่เกินความสามารถในการดูแลของครูอาจารย์ที่จะช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา สำหรับมาตรการดูแลนักศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องของการป้องกันและปราบปราม ในการปราบปรามจะใช้กฎระเบียบของวิทยาลัยเข้าไปจัดการแก้ปัญหากับผู้ที่พก หรือสูบบุหรี่ในวิทยาลัย แต่ตอนนี้พบเห็นค่อนข้างน้อยมาก นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเรื่องวงจรปิดในพื้นที่จุดอับเพื่อป้องกันปัญหา รวมไปถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา กิจกรรมที่เด็กสนใจ และอีกส่วนคือการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน พัฒนาสมรรถนะ ที่ไม่ใช่เพียงการฝึกปฏิบัติในห้องเรียน โดยกิจกรรมของ สสส. ทำให้ครูและนักศึกษาแกนนำได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบ และได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการจัดกิจกรรมแล้วก็ถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่น รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณสำหรับกิจกรรม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้การทำกิจกรรมครอบคลุมทั่วถึงไปยังกลุ่มเป้าหมาย
“ปัจจุบันวิทยาลัยมีทั้งหมด 4,685 คน ต้องเข้าถึงให้ได้ทุกกลุ่ม จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์ทั้งระบบ ที่สำคัญอยากฝากเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด เหล้า กับเด็ก ๆ มันก็ดูอาจจะเป็นความสุขชั่วคราว เป็นการเลียนแบบเพื่อนหรือคนที่เขาเห็น แต่ว่าในระยะยาวมันมีผลต่อสุขภาพ อยากฝากว่าอย่ามองแค่วันนี้ อยากให้มองไปอนาคตข้างหน้า” ดร.อรทัย กล่าว
นายอรุพงษ์ เฮียงหล้า ครูประจำแผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี ครูแกนนำผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมของนักเรียนแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมการรณรงค์ป้องกันเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่โลก จะมีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมถึงการติดป้ายรณรงค์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของวิทยาลัย เช่น ห้องน้ำ พื้นที่จุดเสี่ยงที่นักเรียนจะมั่วสุมกันได้ 2. กิจกรรมการประกวดขบวนรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด มีการส่งเข้าประกวดทั้งหมด 16 หน่วยกีฬา โดยนักเรียนนักศึกษาทำเป็นขบวนเกี่ยวกับต่อต้านยาเสพติดรวมทั้งเหล้าบุหรี่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเด็กเป็นอย่างดี มีการมอบรางวัลถ้วยรางวัลและมอบเงินสนับสนุน 3. การประกวดคลิปรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่อธิบายถึงโทษ การให้ความรู้เกี่ยวกับเหล้าและบุหรี่ ซึ่งผลตอบรับที่ได้ คือ นักเรียนได้ตระหนัก และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป การตรวจพบการพกหรือสูบในสถานศึกษาแทบจะเป็นศูนย์
นางสาวมลฤดี ฤทธิศิลป์ นักศึกษาแกนนำ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี กล่าวว่า สิ่งที่พบเห็นในวิทยาลัย คือ เพื่อน ๆ แอบสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า จากความอยากรู้อยากลอง เพราะเป็นของนิยมกันในหมู่วัยรุ่นยุคนี้ ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์พบเห็นในงานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหะนะ ส่วนตัวได้เข้ามาร่วมเป็นแกนนำนักศึกษา ที่ได้นำกิจกรรมจากการอบรมกับโครงการฯ มาแบ่งปันกับเพื่อน ๆ อย่างการเล่าเรื่องหน้าเสาธง การร่วมเดินรณรงค์ในงานกีฬาช่างของวิทยาลัย และการทำคลิป TikTok กับเพื่อนๆ เพื่อร่วมรณรงค์เกี่ยวกับโทษของปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเพื่อนๆ ให้ความร่วมมือ และเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย