วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานแถลงข่าว ถอดบทเรียนกรณีอุบัติเหตุการเผายา กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออก พร้อมเปิดแถลงการณ์จุดยืนและข้อเสนอของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โดย อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดี และคณาจารย์ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นการแพทย์แผนตะวันออก และให้ความรู้การใช้การรักษาโดยใช้ไฟ ในการรักษา
ภายในงานมีการสาธิตการใช้ไฟและความร้อนในหัตถการภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออกอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น การเผายาแบบมังกรไฟในการแพทย์แผนจีน, การกักน้ำมันในอุณหภูมิอุ่น (Basti) ในการแพทย์อายุรเวทอินเดีย, การเผายาและทางเลือกกรรมวิธีภูมิปัญญาอื่นๆ ในการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องและปลอดภัย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยรังสิต
แถลงการณ์ฉบับที่ 1/2566
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
เรื่อง ถอดบทเรียนกรณีศึกษาอุบัติเหตุการเผายา กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออก
จากกรณีที่รายการโหนกระแสทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เผยแพร่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เป็นเรื่องราวของผู้เสียหายชื่อคุณหมวย ซึ่งได้รับความเสียหายเกิดเพลิงไหม้ตามร่างกายในการเผายาในสถานพยาบาลที่เป็นสหคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย และยังแสดงให้เห็นถึงแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวและสถานพยาบาลแห่งนั้นขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเผายา ขาดสติและมีความประมาทเลินเล่อจนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตในฐานะเป็นองค์กรการศึกษาที่ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมานานกว่า 20 ปี ในหลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนจีน และหลักสูตรนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร อีกทั้งยังมีประสบการณ์การให้บริการการเผายาในสหคลินิกภายในมหาวิทยาลัยแทบทุกวันมานานกว่า 10 ปี เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้
ประการแรก เราขอขอบคุณรายการโหนกระแส และขอบคุณผู้เสียหายที่ได้เปิดเผยความจริงในเรื่องดังกล่าวสู่สาธารณะ เราขอแสดงความเสียใจและขอให้กำลังใจต่อผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายให้สำเร็จต่อไปโดยเร็ว
ทั้งนี้ความผิดพลาดส่วนตนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอาชีพรวมถึงแพทย์ทุกสาขาถ้าผู้นั้นขาดสติและขาดประสบการณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้วต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ดังนั้นแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวรวมถึงสถานพยาบาลแห่งนั้นจะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันสภาการแพทย์แผนไทย และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง และหาทางออกในกรณีนี้อย่างเป็นรูปธรรม และเรียกร้องต่อผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้ตระหนักและมีความระมัดระวังในการใช้ไฟและความร้อนต่อผู้ป่วยด้วยความระมัดระวังและความรอบคอบมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง การเผายาเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่เป็นหัตถการตามแนวทางวิชาชีพการแพทย์แผนไทยลำดับที่ 6 ในการประกาศเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ลงนามวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ดังนั้นการเผายาจึงเป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่มีการใช้กันทางภาคเหนือที่ได้รับการรับรองโดยสภาการแพทย์แผนไทย โดยมีกรรมวิธีหัตถการที่ใช้การจุดไฟให้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพรรสร้อนที่วางลงผิวหนังเฉพาะจุดของผู้ป่วย
ด้วยเหตุผลนี้ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนในภาคทฤษฎีและปฏิบัติกรรมวิธีต่างๆของการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด โดยมีอาจารย์ผู้มีประสบการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญควบคุมดูแล ซึ่งรวมถึงการเผายาด้วย เพื่อให้นักเรียนที่จะเป็นแพทย์แผนไทยในอนาคตได้ชั่งน้ำหนักในการเลือกใช้กรรมวิธีต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเลือกและบริหารจัดการใช้กรรมวิธีต่างๆ ให้มีความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก
ดังนั้นหากแพทย์แผนไทยคนใดไม่เคยเรียนรู้การเผายาภาคปฏิบัติจากครูบาอาจารย์โดยตรงอย่างถูกต้อง ไม่ควรใช้กรรมวิธีเผายากับผู้ป่วยโดยเด็ดขาด และผู้ที่จะทำหัตถการเผายากับผู้ป่วยต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น
ประการที่สาม การเผายาเป็นหัตถการในการแพทย์แผนไทย ที่มีหลักการคือ การเพิ่มธาตุไฟเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งผ่านทางผิวหนังของร่างกาย (เช่น ท้อง, หลัง ฯลฯ) โดยใช้ความร้อนจากการจุดไฟด้านบนเครื่องยาสมุนไพรสดรสร้อนที่วางลงบนผิวหนัง (เช่น เหง้าไพลสด เหง้าขมิ้นสด เหง้าขิงสด เหง้าข่าสด เหง้าตระไคร้สด ฯลฯ) โดยโรคหรืออาการที่สามารถใช้การเผายา ได้แก่ ท้องอืดท้องเฟ้ออาหารไม่ย่อย ภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต อาการหนาวใน และอ่อนเพลีย ใช้เพื่อไล่ลมจากท้อง ไล่ลมในเส้นลมที่ติด คลายเส้นที่ตึง ลดการปวดกล้ามเนื้อ โรคลมผิดเดือน
กรรมวิธีการเผายาจึงไม่ได้เหมาะกับคนปกติทั่วไป แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคธาตุไฟหย่อนเฉพาะจุดเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างภาวะร้อนเกิน เช่น มีไข้ เพลียจากแดด ร้อนใน มีภาวะการอักเสบ ฯลฯ
ประการที่สี่ แม้การเผายาเป็นการใช้ไฟในบริเวณใกล้ผิวหนังของผู้ป่วย แต่เป็นหัตถการที่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการควบคุมปริมาณแอลกอฮอลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นบนผ้าเปียกอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้นการเผายายังสามารถดำเนินกรรมวิธีด้วยการไม่ใช้แอลกอฮอลเลยด้วย เช่น การใช้การบูรแบบดั้งเดิมเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเครื่องยาซึ่งเป็นการเผาไหม้เครื่องยาทีละน้อย
นอกจากนั้นหัตถการขับลมหรือคลายกล้ามเนื้อด้วยสมุนไพรรสร้อนผ่านทางผิวหนังเฉพาะจุด ยังสามารถทดแทนด้วยหัตถการอย่างอื่น ที่อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือแม้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญการเผายาหรือไม่ต้องการใช้กรรมวิธีการเผายา เช่น การประคบร้อนด้วยสมุนไพรรสร้อน การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรรสร้อนที่สกัดมาแล้ว (เช่น ครีม หรือ น้ำมัน) ควบคู่ไปกับการนวดกดจุด
ซึ่งผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยจะต้องชี้แจงขั้นตอนต่างๆให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียด และผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองและสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยผู้ป่วยจะต้องมีความรู้เท่าทันและต้องกล้าปฏิเสธการรักษาทันทีหากรู้สึกได้ว่ามีความผิดปกติหรือมีความเสี่ยงในการรักษา
ประการที่ห้า นอกเหนือจากกรรมวิธีเผายาแล้ว การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านมีภูมิปัญญาการใช้ไฟและความร้อนในการรักษาอีกหลายวิธีที่ได้ผลดีมานานหลายร้อยปีแล้ว เช่น การนึ่งทับหม้อเกลือหลังคลอดเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ การนึ่งท้องด้วยสมุนไพรเพื่อให้ท้องยุบในมารดาหลังคลอด การประคบร้อนด้วยสมุนไพรเพื่อคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดลม การย่างไฟบนแคร่ด้วยสมุนไพรเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การอบตัวสมุนไพร การรมยา ฯลฯ
นอกจากนั้นยังปรากฏการเทียบเคียงการใช้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพร โดยหัตถการของการแพทย์แผนไทยซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร ปรากฏอยู่ในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม 2 ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งคัมภีร์แพทย์หลวงเล่มนี้กล่าวถึงลมเป็นก้อนเป็นดาน 10 ประการ ที่ทำให้เกิดโรค ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย ซึ่งได้กล่าวถึง“โรคปิตตะคุลมะ” อันเป็นก้อนดานตั้งอยู่ในอุระมีดีซึมอยู่เป็นอันมาก รักษาด้วยกรรมวิธีเผาเหล็กแดงนาบลงบนสรรพยาซึ่งเป็นเครื่องยาสมุนไพรในจุดที่เจ็บเพื่อแก้ลมก้อนเถาหาย
ในขณะที่การแพทย์แผนจีนซึ่งมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่มีมานานมาเป็นพันปี หากการฝังเข็มไม่ได้ผลก็จะใช้การรมยาด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่น เพิ่มพลังหยางในการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความเย็นและชื้นในร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รักษาภาวะหยางพร่อง(ความร้อนพร่อง) หรือมีอาการขี้หนาว กลัวลมหนาว เหนื่อยง่าย เลือดน้อย ซึ่งมีข้อห้ามเช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทย คือห้ามสำหรับคนที่มีไข้หรือภาวะอักเสบ ติดเชื้อ ร้อนเกิน ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม กระหายน้ำมาก เป็นแผนร้อนใน เหงื่อออกมาก และหัตถการนี้ไม่เหมาะกับฤดูร้อน
นอกจากนี้ในการแพทย์แผนจีนยังมีการใช้ความร้อนรมยาผ่านสมุนไพรตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่ามังกรไฟ ชื่อกรรมวิธีฮั่วหลงจิว(火龙灸)หรือ ฉางเฉอจิว(长蛇灸) และมีความคล้ายคลึงกับการกักน้ำมันร้อนตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่า กะติ บาสติ (KATI BASTI) ของการแพทย์อายุรเวทอินเดียอีกด้วย
โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดให้มีการสาธิตการเผายาอย่างปลอดภัย การเผายาโดยใช้การบูร การประคบร้อน การนึ่งท้อง การรมยามังกรไฟ และการกักน้ำมันอุ่นตามแนวกระดูกสันหลังด้วย
ทั้งนี้ผู้ให้บริการที่ใช้ไฟและความร้อนของแต่ละภูมิปัญญา ควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยตรง และดำเนินกรรมวิธีการรักษาด้วยความรู้ สติ และความรอบคอบ ย่อมจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน
ด้วยความปรารถนาดี
อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ 13 ธันวาคม 2566