“ผอ.OKMD” ชี้ แคมเปญ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” เหมาะแก่การลงทุนเวลา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเวทีแลกเปลี่ยนภาคียุทธศาสตร์ ปิดเทอมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมงานระหว่างภาคียุทธศาสตร์และจังหวัดยุทธศาสตร์ปิดเทอมสร้างสรรค์ ณ ห้อง ประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า OKMD โดย ทีเคพาร์ค และมิวเซียมสยาม ได้ร่วมขับเคลื่อนงานปิดเทอมสร้างสรรค์ โดยการสร้างสรรค์การเรียนรู้ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยภารกิจของ OKMD ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ก็ได้ทำนวัตกรรมการเรียนรู้ เข้าถึงคนทุกช่วงวัย ลดการเหลื่อมล้ำของสังคม เริ่มแรกเราชวนคนที่อยากเรียนรู้เข้าห้องสมุดค้นคว้าหาเรื่องที่สนใจใคร่รู้ และเรียนรู้เรื่องนั้นอยากลึกซึ้ง นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดง เรื่องราวที่น่าสนใจไว้มากมาย

ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า จนถึงวันนี้ 20 ปี ผ่านมาไป เทคโนโลยี และกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่ง OKMD มีโอกาสได้ส่งเสริม และบ่มเพาะนวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ผ่านการเล่นใน 3 แบบ ได้แก่ 1. การเรียนรู้ผ่านการบอร์ดเกม ที่ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องง่าย โดยบอร์ดเกมบางประเภท เป็นเกมกลยุทธ์ ที่ต้องฝึกการคิดวิเคราะห์ และบางประเภทก็เล่นเป็นทีม สามารถทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นทีมมากขึ้น 2. การเล่นในพื้นที่สนามเด็กเล่น หรือที่เรียกว่า Playground โดยใช้หลักการพัฒนาสมอง ให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น เช่น มีบ้านต้นไม้ มีพื้นทราย มีพื้นน้ำ และมีสะพานโยกเยก ซึ่งจะสอนให้เด็กฝึกตัดสินใจ และมีความมุ่งมั่นในการก้าวข้ามจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ผ่านสะพานโยกเยก ความสร้างสรรค์ทำให้เกิดการเรียนรู้ รูปแบบใหม่ได้ 3. การเล่นควบคู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ใช้ Robotics, AR, VR เป็นต้น โดยจัดให้มีการแข่งขัน การจัดประกวด สอดคล้องกับนโยบายโคดดิ้งของรัฐบาลเมื่อหลายปีก่อนด้วย ดังนั้น การเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมการเล่น จึงเป็นภารกิจหนึ่งที่ OKMD ทำมาตลอด 20 ปี

ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะมีความร่วมมือระหว่าง สสส. OKMD ภาคีเครือข่าย จัดแคมเปญ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” โดยทุกหน่วยงานมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน คืออยากให้มีพื้นที่เรียนรู้ กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเท่าที่ผู้บริหาร สสส. ได้พูดถึงไว้อย่างนาสนใจว่า อยากให้ทุกตารางเมตรของประเทศไทย มีพื้นที่เรียนรู้ อาจเรียนรู้จากชุมชน หรือบางพื้นที่ที่มีพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์อยู่เดิมแล้ว ก็เข้าไปเชื่อมโยง และพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายในชุมชน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ใช้เวลา และวันว่างให้เป็นประโยชน์ ในการค้นคว้าหาความรู้ เนื่องจากการลงทุนของเด็กวัยเรียนคือ “การใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และต่อโยงไปถึงการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *