CPRAM Transformation Roadmap ตอกย้ำความเป็นผู้นำ FOOD PROVIDER สู่มาตรฐานโลก พร้อมยกระดับขีดความสามารถ

CPRAM Transformation Roadmap

ตอกย้ำความเป็นผู้นำ FOOD PROVIDER สู่มาตรฐานโลก พร้อมยกระดับ

ขีดความสามารถประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชีย

 

บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและผู้นำด้าน FOOD PROVIDER มาตรฐานโลก ดำเนินธุรกิจเคียงข้างสังคมอย่างเกื้อกูลในการร่วมส่งความเป็นอยู่ที่ดีให้ทุกคน จัดงานแถลงข่าวทิศทางธุรกิจ “CPRAM Transformation Roadmap”  พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพมาตรฐานยกระดับขีดความสามารถความเป็นผู้นำ FOOD PROVIDER และก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมอาหารของประเทศและในภูมิภาคเอเชีย

นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า ซีพีแรมเดินทางผ่านยุคต่างๆ จวบจนปัจจุบันยุคที่ 7 คือ “ยุคศรีอัจฉริยะ” แต่ละยุคใช้เวลา 5 ปี ยุคนี้ซีพีแรมยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วย CPRAM 4.0 ขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี และเป็นผู้นำ 3S (FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, FOOD SUSTAINABILITY) สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารของโลก  รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรยุคที่ 7 ระยะ 5 ปีด้วย “CPRAM Transformation Roadmap” ซึ่งประกอบด้วย Organization Transformation, New Business (Vending machine, Catering Service), Digitalization, Robotization, และจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center) พร้อมตั้งเป้าหมายยอดขาย 20,000 ล้านบาท ในปี 2019 ด้วยกลยุทธ์การขยายตลาดทั้งเชิงลึกตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค และเชิงกว้างสู่ภูมิภาคทั่วประเทศไทย มีสัดส่วนการยอดขายอาหารพร้อมรับประทาน 65% และเบเกอรี่ 35% ด้วยผลิตภัณฑ์กว่า 900 SKUs โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่มบริษัท ซีพีแรม จำกัด อาทิ แบรนด์เจด ดราก้อน, แบรนด์เลอแปง, แบรนด์เดลี่ไทย, แบรนด์เดลิกาเซีย, แบรนด์   ซีพีแรม แคทเทอริ่ง, และแบรนด์ฟู้ดดี้ดี เป็นต้น จำหน่ายผ่านช่องทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ กว่า 20,000 แห่ง รวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

นายวิเศษ กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศทิศทางองค์กร 5 ปี (ค.ศ. 2018-2022) เมื่อ 12 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมาในการขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น มีโรงงานใหม่เกิดขึ้นอีก 5 แห่ง 2 แห่งในที่ตั้งใหม่คือ โรงงานลำพูน และโรงงานสุราษฎร์ธานี และอีก 3 แห่งในที่ตั้งเดิม คือโรงงานชลบุรี โรงงานขอนแก่น และโรงงานบ่อเงิน จังหวัดปทุมธานี ด้วยงบลงทุน 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น และแช่เยือกแข็ง เพิ่มขึ้นอีก 50-70% รองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นและช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการ    สร้างงานสร้างรายได้ในภูมิภาคขณะเดียวกันยังได้เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น และช่วยให้อาหารที่ผลิตออกจากโรงงานกระจายไปสู่ร้านค้าในเวลาสั้นลงจากเดิมต้องใช้เวลา 6-7 ชม. ลดเหลือ 2-3 ชม.เท่านั้น

ปัจจุบัน ซีพีแรม ประกอบด้วยโรงงาน 7 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี 2 แห่ง, กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ขอนแก่น, ลำพูน และสุราษฎร์ธานี นอกจากสำหรับผลิตสินค้าส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำในแต่ละภูมิภาคแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ เพื่อผลิต Local Product “อาหารท้องถิ่น”  ในรูปแบบ “Chilled Food” หรืออาหารแช่เย็น สำหรับผู้บริโภคในท้องถิ่นโดยเฉพาะ จากเดิมมีเฉพาะเมนู Nationwide ซึ่งเป็นเมนูทั่วไป  ขายทั่วประเทศ แต่นับจากนี้จะมีสัดส่วนสินค้าเมนูอาหารท้องถิ่น 25 – 30% และอาหารเมนู Nationwide สัดส่วน 70 – 75% เช่น อาหารประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาหารประจำภาคเหนือ อาหารประจำภาคใต้ แต่การพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่น เราไม่ได้จะไปแข่งกับร้านอาหารพื้นเมือง เพราะถึงอย่างไรร้านอาหารท้องถิ่น มีความหลากหลาย และอร่อย แต่การที่เราพัฒนาเมนูท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในเวลาดึก ที่ไม่มีร้านอาหารเปิดให้บริการแล้ว และเพื่อเติมเต็มตลาดของซีพีแรมในต่างจังหวัดด้วย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ

นายวิเศษ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีแรมเตรียมจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือ และประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอาหาร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ใช้ ใน 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ Biotech, Digitech และ Robotech สู่ความยั่งยืนของอาหาร รวมถึงเป็นการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำจวบจนถึงปลายน้ำ FTEC ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศในการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ กับเทคโนโลยี เข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

“ ไม่เพียงเท่านั้น ซีพีแรมยังวางการใช้เงิน 1% ของยอดขายหรือปีละ 150-200 ล้านบาท ทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับองค์กรสู่ CPRAM 4.0 รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเซีย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่นผู้สูงวัย อาหารเด็ก และอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ” เป็นต้น เราจะนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติมาร่วมทำงานในโรงงานในจุดที่ทำงานหนักและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ”

นายวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ซีพีแรม จึงได้พัฒนาสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้ทำออกมาวางตลาดแล้ว คือ ข้าวต้มผู้สูงวัย มีคุณสมบัติ เคี้ยวแหลกง่าย ดูดซึมได้ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการเป็นเพราะกลุ่มผู้สูงอายุต้องการกินอาหารไม่เหมือนคนปกติ นอกจากนี้ ซีพีแรมยังได้พัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งต้องการอาหารคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องการอาหารที่หวานน้อย หรืออาหารมีความหวานปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอัตราการดูดซึมความหวานต่ำ ไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในร่างกายปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น

“ แนวทางปฏิบัติที่ซีพีแรมและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ยึดมั่นและให้ความสำคัญเสมอมา ในการร่วมกันส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคมในเวลาเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร้อยเรียงกันมาตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำจึงมีส่วนสำคัญในการตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมทั้งสิ้น เราเรียกการร้อยเรียงของผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำนี้ว่า ห่วงโซ่อุปทาน หรือ SUPPLY CHAIN และร่วมส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคมเพื่อความปลอดภัยอาหาร ความมั่งคงอาหาร และความยั่งยืนอาหาร 3 เรื่อง หรือเรียกว่า 3S ทั้ง 3S (FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, FOOD SUSTAINABILITY) ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะต้องร่วมกันทำตลอดห่วงโซ่อุปทานส่งมอบความดีคู่ความเก่งใน 3S นี้ให้กับผู้บริโภคและสังคมเป็นเนื้อเดียวกัน อาทิ โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต โครงการปูม้ายั่งยืนคู่ทะเลไทย คนรุ่นใหม่ไร้ Food waste เป็นต้น ” นายวิเศษ กล่าวสรุป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *