องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจด้านส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนสหกรณ์และเกษตรกรโคนม ด้านการส่งเสริมให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพโคนมให้มีสุขภาพดี เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำนมดิบที่ดีมีคุณภาพ ตั้งเป้าให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรโคนม
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึง การดำเนินงานในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ว่า “เนื่องจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ส.ค. มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรโคนม และให้การสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ด้านต่างๆที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจการโคนมทุกด้าน การส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพของโคนมก็เช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเกษตรกรที่ต้องมีความรู้ในการดูแลโคนมในฟาร์มของเกษตรกรเอง การดูแลสุขภาพโคนมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องระมัดระวัง เช่น โรคเต้านมอักเสบในโคนม จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งการอักเสบของเต้านมในโคนม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำนมของโคนม หากโคนมเป็นโรคนี้อาจทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมดิบน้อย น้ำนมไม่มีคุณภาพ ถือเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพราะนอกจากทำให้คุณภาพของน้ำนมเสื่อมลงแล้วปริมาณน้ำนมก็ลดลงด้วย ในขณะที่เกษตรกรต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในโคนมเพิ่มขึ้น ผลผลิตน้ำนมดิบที่ได้ไม่มีคุณภาพ ไม่ทนต่อความร้อนเมื่อนำน้ำนมดิบเข้าผ่านขบวนการพาสเจอร์ไรส์ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานและรสชาติเปลี่ยนไปจากน้ำนมที่ได้ในโคนมปกติ อ.ส.ค. เล็งเห็นความสำคัญและผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลเสียต่อเกษตรผู้เลี้ยงโคนมโดยตรง จึงให้การสนับสนุนในการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรมาอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมเกษตรกรด้านดูแลสุขภาพโคนมถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ อ.ส.ค. เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกษตรกรจะได้ผลผลิตน้ำนมดี มีคุณภาพ”
นอกจากนี้ในน้ำนมที่ได้อาจมีเชื้อแบคทีเรีย หรือยาที่ใช้ในการรักษาโรคหลงเหลืออยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนสนใจการบริโภคน้ำนมมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงควรให้ความสนใจต่อโรคเต้านมอักเสบและมีความรับผิดชอบต่อคุณภาพน้ำนมอันจะเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์น้ำนมมีคุณภาพ
“โรคเต้านมอักเสบ” ในโคนม สาเหตุหลักโดยส่วนมากอาจเกิดจากเชื้อราหรือยีสส์ก็ได้ โคสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้จาก 2 แหล่งสำคัญคือ จากแม่โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบและจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคนมเอง เช่น อุจจาระ พื้นคอก มือผู้รีด เป็นต้น หรือ เชื้อแบคทีเรียที่พบในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคนมได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอกคัส, อี. คอไล, แคลบเซลล่านิวโมนิอี เอนเตอโรแบคเตอร์, ซูโดโมนาส เออรูจิโนซ่า, ซูโดโมนาส ซูโดมอลลิไอ เป็นต้น ซึ่งเชื้อจำนวนมากขึ้นเมื่อมีเข้าสู่ที่เต้านมโคนม จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของเต้านมทำให้เซลล์เต้านมโคนมอักเสบ
อาการที่พบในโคนมโดยส่วนมากเมื่อโคนมมีอาการเต้านมอักเสบมี 2 ลักษณะสำคัญคือ เต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมโคและน้ำนม มากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ปริมาณเชื้อ และตัวแม่โคนม เต้านมโคอาจจะบวม แข็ง เท่านั้น หรือในโคนมที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงกับเต้านมโคแตกก็มี ส่วนลักษณะน้ำนมอาจพบตั้งแต่น้ำนมเป็นสีเหลืองเข้มข้น เต้านมโคนมอักเสบชนิดรุนแรง แม่โคนมจะแสดงอาการป่วยร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร หายใจหอบ ท้องเสีย เต้านมอักเสบชนิดไม่รุนแรง เต้านมอักเสบชนิดนี้แม่โคจะกินอาหารได้ตามปกติ อาจพบมีไข้เล็กน้อย และเต้านมอักเสบชนิดเรื้อรัง เต้านมโคนมอักเสบชนิดนี้พบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมโคนมได้เล็กน้อย หรืออาจพบแต่เพียงน้ำนมเปลี่ยนแปลงให้เห็นก็ได้ และเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านมโคนมและน้ำนมให้เห็น การอักเสบแบบนี้พบได้ 8-10 เท่าของการอักเสบแบบแสดงอาการ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพน้ำนมเสื่อมลง ทำให้น้ำนมที่ได้ไม่มีคถณภาพ
อ.ส.ค. ร่วมกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มีแนวทางและคำแนะนำในการรักษาโรคเต้านมโคนมอักเสบเช่น การให้ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนใหญ่ เพราะสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียทั้งบวกละลบ ดังนั้นยาปฏิชีวนะแต่ละชนิดก็สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะต่างๆ ไว้ เพื่อจะได้ใช้ยาให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคในโคนมด้วย
สำหรับการให้ความรู้ในการควบคุมและป้องกันโรคเต้านมโคนมอักเสบเบื้องต้นแก่สหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ควรปฏิบัติตามอย่างถูกวิธีด้วย เช่น เลี้ยงโคนมไม่ให้อยู่ในพื้นที่แออัดจนเกินไป,คอกเลี้ยงโคนมต้องแห้ง สะอาด, แม่โคนมที่นำเข้ามาใหม่ควรได้รับการตรวจสุขภาพและตรวจโรคเต้านมอักเสบก่อนที่จะนำมาเลี้ยงในฟาร์ม, ก่อนการรีดนมควรล้างเต้านมให้สะอาดด้วยน้ำยาคลอรีนและเช็ดให้แห้ง, ผ้าเช็ดเต้านมต้องใช้ตัวละหนึ่งผืน และต้องแห้งสะอาด, มือผู้รีดก่อนทำการรีดจะต้องล้างให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ควรสวมถุงมือทุกครั้งก่อนรีดนมโคนม, ก่อนรีดน้ำนมทุกครั้งต้องตรวจด้วยถ้วยตรวจนม (strip cup), ควรเช็ดหัวนมทุกครั้งหลังรีดนมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอเฮกซิดิน (0.5%) หรือไอโอไดฟอร์ (0.5-1.0%), ควรตรวจโคนมในฝูงด้วยน้ำยา CMT ทุกครั้งที่ตรวจพบว่าโคนมเป็นโรคเต้านมอักเสบ หรือ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งข้อควรปฏิบัติเหล่านี้จำเป็นต่อการให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้ผู้ประกอบการกิจการโคนมสามารถสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่กิจการโคนมของตนเองได้ต่อไป