กสศ.ผนึก ยูเนสโก จับมือ 5 ประเทศชั้นนำ สร้างเครือข่ายนานาชาติด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ จัดสรรงบประมาณช่วยเด็กด้อยโอกาส ต้องใช้ข้อมูลรายคน และเข้าใจความแตกต่างของเด็ก เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด พร้อมเดินหน้าจัดประชุมใหญ่นานาชาติ ก.ค.นี้
เมื่อวันที่18 -19 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยูนิเซฟ และหน่วยงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษาจากหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จัดประชุมเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านความเสมอภาคทางทางการศึกษา หรือ The Equitable Education Association : A Kick-off Meeting โดยตัวแทนจากประเทศต่างๆได้นำเสนอความก้าวหน้าด้านการลดความเหลื่อมล้ำและเดินหน้าร่วมเป็นเครือข่ายนานาชาติด้านความเสมอภาคทางการศึกษา
นายอิจิโร่ มิยาซาวา (Mr.Ichiro Miyazawa) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากยูเนสโก กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันได้อย่างตรงจุด รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน เราได้เห็นจุดแข็งของหลายๆประเทศ ที่โด่ดเด่นที่สุดคือ ทุกคนต้องการสนับสนุนการศึกษาอย่างเสมอภาคให้เกิดขึ้น ในขณะที่จุดอ่อนก็คือ อุปสรรคในเชิงปฏิบัติที่มีปัญหาอยู่บ้าง ทั้งนี้ขอชื่นชมประเทศไทยที่จัดตั้ง กสศ. ขึ้นเพื่อลงมือแก้ปัญหานี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่อยากจะให้โลกได้เห็น
นายอิจิโร่ กล่าวว่า ปัญหาของเด็กๆทั่วโลกที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยมีเด็กและเยาวชนจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ออกจากระบบการศึกษา และเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ยูนิเซฟ ยูเนสโก ได้พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นพวกเราต้องร่วมกันจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาค เพื่อให้เด็กๆได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น และมุ่งหวังให้เติบโตอย่างชาญฉลาด มีคุณภาพทั้งทางความคิด จิตวิญญาณผ่านการศึกษา
“ยูเนสโก ยินดีเป็นหน่วยงานที่คอยให้ความร่วมมือ หรือเปรียบเสมือนกาวที่คอยเชื่อมหน่วยงานต่างๆทั่วโลกที่มีแนวทาง วิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อพัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ผมเชื่อว่า กสศ. จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม หรือมาเลเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆอีกมากมาย ยังไม่มีหน่วยงาน กองทุนในลักษณะนี้ ทางยูเนสโกหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างเครือข่ายในประเทศไทยแล้วขยายต่อออกไปทั่วโลก นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็น และหวังว่าการเริ่มต้นของเครือข่ายนานาชาติจะทำให้เราได้เรียนรู้และค้นพบกุญแจสำคัญที่จะใช้สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กทุกคนได้” นายอิจิโร่ กล่าว
ด้านน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ กสศ. ยูเนสโก้ รวมถึงเครือข่ายจาก 5 ประเทศได้แก่ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้วางภารกิจร่วมกันไว้ใน 2 ประเด็น คือ 1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงาน นวัตกรรม และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันทำงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างประเทศ 2. กสศ. ยูเนสโก รวมถึงเครือข่ายนานาชาติ มุ่งสนับสนุนทางวิชาการและให้คำปรึกษาให้แก่ประเทศที่สนใจแต่ยังไม่มีกลไกการทำงานที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กโดยตรง
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามตกลงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ภายในปี 2573 ร่วมกับ193 ประเทศ ซึ่งประเด็นเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นการหารือในวันนี้จึงเป็นโจทย์ร่วมกันที่เรามุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยการนำโมเดลและมาตรการที่เป็นจุดแข็งของ 5 ประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย อาทิ ประเทศฟินแลนด์ มีจุดแข็งด้านการสนับสนุนและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กที่เรียนไม่ทัน เด็กพิเศษ ผ่านการมีระบบดูแลเด็กรายบุคคล รวมถึงมีนักจิตวิทยาเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนนิวซีแลนด์เน้นสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย โดยมีการจัดสอนเสริมให้แก่เด็กปฐมวัยจากครอบครัวที่ยากจนให้ได้รับการพัฒนาที่ดีและมีการจัดสรรงบประมาณส่วนเพิ่มเติม (Top-up) ขณะที่อเมริกาใช้วิธีการพัฒนาโรงเรียนของชุมชน (Promise Neighborhood School) ในย่านที่มีคนยากจนอยู่จำนวนมาก โดยผสานความร่วมมือทั้งหน่วยจัดการศึกษาและพ่อแม่ ให้การดูแลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงมีงานทำ
สำหรับก้าวต่อไป วันที่ 10-12 กรกฎาคม 2563 นี้ กสศ. ยูเนสโก ยูนิเซฟ Save the children เครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะร่วมกันจัดประชุมหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านความเสมอภาคทางการศึกษาในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้นวัตกรรมของไทยและต่างประเทศได้มีโอกาสขยายบทเรียนไปสู่ประเทศอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลก
นายเดเมียน เอ็ดเวิร์ด ผู้ช่วยรองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายระบบการศึกษา กระทรวงศึกษา นิวซีแลนด์ กล่าวว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาควรต้องเพิ่มงบประมาณให้แก่ระบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนเด็กที่ประสบปัญหาเรื่องความเสมอภาค โดยกุญแจสำคัญคือต้องเข้าใจข้อมูลเรื่องราวของเด็กแต่ละคน เพื่อทราบว่าควรจะเพิ่มงบประมาณไปที่จุดไหนและใช้อย่างไร ทางนิวซีแลนด์ได้เก็บข้อมูลเจาะลึกลงไปจากเดิมที่ระดับชุมชุนสู่ระดับครัวเรือนของเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมที่สุด
นายเดเมียน กล่าวว่า เราพบว่าเด็กแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือในระดับที่ต่างกันไป อีกทั้งความท้าทายในการแก้ปัญหาให้แก่เด็กในตัวเมืองกับชนบทก็ต่างกันอย่างมาก รวมไปถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังมองว่าการระดมทุนช่วยเหลืออย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้ แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในระดับผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบ และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่สำคัญคือต้องคิดถึงผลลัพธ์ชีวิตในอนาคตและความเป็นอยู่ของเด็กด้วย ไม่ใช่คิดถึงเพียงแค่ความสำเร็จทางวุฒิการศึกษาเท่านั้น โดยสิ่งที่วัดความสำเร็จในโครงการช่วยเหลือของนิวซีแลนด์คือ จำนวนการเข้าชั้นเรียนของเด็กที่เพิ่มมากขึ้น และยังมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของการเข้าเรียนแต่ละครั้งของเด็กอีกด้วย