ระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ถือได้ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การที่เด็กไทยจะสอบเข้าโรงเรียนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้นั้นเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะด่านแรกที่เด็กจะต้องผ่านก็คือ การสอบ AEIS (Admissions Exercise for International Students) ซึ่งเป็นข้อสอบสำหรับเด็กต่างชาติที่ไม่ใช่คนสิงคโปร์ นับเป็นประตูสำคัญในการไปหาประสบการณ์การศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูประวัติเด็กไทยที่เคยไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่ ป.4 และจบ sec 4 ( O-Level) โดยในระดับการศึกษา Sec 1 – 3 มีผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน เธอคือคุณศุภนุช ชือรัตนกุล หรือที่เด็กๆ หลายคนเรียกเธอว่า “ครูเบล”
คุณศุภนุช ชือรัตนกุล (ครูเบล) เล่าย้อนให้ฟังถึงประวัติสมัยเริ่มไปสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ว่า “ความสำเร็จของเบลในวันนั้นมาจากครอบครัวก็คือคุณแม่ ซึ่งท่านเป็นคนเก่งมีวิสัยทัศน์ที่ดีและกล้าตัดสินใจ ถ้ารู้ว่าอะไรดีจะพุ่งไปที่เป้าหมายนั้นและวางเส้นทางไว้ให้ลูก ๆ โดยพี่ชายของเบลเป็นคนแรกที่ไปสิงคโปร์ตั้งแต่เด็ก ตอนเดินทางไปใหม่ ๆ แม่บอกเพียงแค่ว่าจะพาพวกเราไปเที่ยวและสั่งให้ทุกคนเก็บของ แต่พอไปถึงสิงคโปร์เท่านั้นแม่ก็พาไปดูบ้าน Host family ที่จะให้พี่ชายไปพักอยู่ แม่ของเบลใช้อุบายให้พี่ชายไปเล่นสระว่ายน้ำ สักพักแม่ก็บอกว่าให้อยู่ที่บ้านนี้นะ จากนั้นแม่ก็กลับกรุงเทพฯ ทันทีแบบที่พี่ชายเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัว ส่วนคนที่สองคือตัวเบลเอง ซึ่งก่อนที่จะเดินทางไปสิงคโปร์เบลรู้อยู่ในใจแล้วว่าแม่ต้องการให้อยู่สิงคโปร์เช่นเดียวกับพี่ชายเพียงแค่อยู่กันคนละโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกที่เบลไปอยู่บอกได้เลยว่าฟังภาษาอังกฤษไม่ออกและพูดไม่ได้เลย ทำให้น้ำหนักลดลงไปถึง 13 กิโลกรัม แต่ไม่นานภายใน 3 เดือน ก็เริ่มพูดได้ เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไปอยู่ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่ทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษ เราจึงต้องปรับตัวและอยู่กับมันให้ได้ เบลได้เริ่มเรียนที่สิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 11 – 17 ปี คือแรกเริ่มเข้าตั้งแต่ ป.4 และจบ sec 4 (O-Level) โดยในระดับการศึกษา Sec 1 -3 มีผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และได้กลับมาศึกษาต่อในระดับปริญาตรี Mahidol University International College (MUIC) สาขาวิชาชีววิทยา โดยมีผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) และนอกจากผลงานด้านการศึกษาแล้ว ช่วงที่กำลังเรียนอยู่มีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย จึงได้สมัครและรับทุนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศถึง 9 ประเทศ ยังได้ร่วมกิจกรรมพิเศษอีกมากมาย”
ครูเบล เปิดเผยด้วยว่า สำหรับในยุค New normal ซึ่งเกิดขึ้นมาจากภาวะวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดเทอม เด็กนักเรียนและผู้ปกครองเองก็ต้องมีการปรับตัว โดยในมุมมองของเบลมองว่า อารมณ์ของเด็ก ๆ ตอนนี้อยากไปโรงเรียนมาก เนื่องจากจะได้เจอเพื่อน ๆ ได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ผู้ปกครองเองก็เริ่มรับมือไม่ไหวที่จะต้องเฝ้าเด็กในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ที่มักจะอยู่ไม่นิ่ง อย่างไรก็ตามยอมรับการเรียนแบบตัวต่อตัวจะช่วยให้เด็กมีสมาธิและจดจ่อกับการเรียนมากกว่า แต่สำหรับการเรียนออนไลน์ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เด็ก ๆ ในต่างจังหวัด ได้เข้าถึงเนื้อหาเท่าเทียมกับเด็กในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้เด็กสามารถเรียนกับครูดัง ๆ ได้ ซึ่งที่สิงคโปร์ได้ทำการเรียนออนไลน์แล้วสามารถประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนได้มากขึ้น แต่ของประเทศไทยเรานั้นมีอุปสรรคที่สำคัญคือ ความไม่พร้อมในเรื่องเทคโนโลยี เด็กต้องมีอุปกรณ์ที่ดีสามารถรองรับการเรียนออนไลน์ได้ และก็ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยิ่งถ้าเป็นในพื้นที่ห่างไกลการเข้าถึงยิ่งยากลำบากกว่า
สำหรับในมุมมองของผู้ปกครองเองต่างก็ต้องคำนึงความปลอดภัยของบุตร-หลานด้วยเป็นหลัก โรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ก็ต้องเตรียมมาตรการการป้องกันไว้อย่างดี ผู้ปกครองบางท่านเลือกที่จะรอให้การระบาดของ COVID-19 ผ่านพ้นไปก่อนค่อยส่งบุตร-หลานไปเรียน การเรียนออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ แต่หากมีความกังวลว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ไม่มีความเข้มข้นเท่าการไปโรงเรียน ทางเบลเองก็มีวิธีแก้คือปรับที่คอนเทนต์ ถ้าเด็กเรียนแล้วไม่สนุกหรือรู้สึกว่าเด็กไม่จดจ่อกับการเรียน ครูก็ปรับต้องปรับคอนเทนต์เป็นรูปแบบอื่นเช่น วีดีโอ หรือการ์ตูน เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจและสามารถนั่งเรียนต่อเป็นชั่วโมงได้
“ เบลจะบอกและสอนน้อง ๆ เสมอโดยเฉพาะคนที่อยากไปเข้าเรียนที่สิงคโปร์ คือ ต้องกล้าตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ เพราะที่นั่งที่กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้จัดให้กับเด็กต่างชาตินั้นมีน้อย สิงคโปร์จะใช้วิธีให้เด็กจากทั่วโลกมารวมกันแล้วสอบแข่งขันเพื่อคัดนักเรียนท็อป 10 แต่ก็ยังมีเด็ก ๆ อยากจะไป เพราะระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นถือว่าอยูในอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยการเรียนการสอนที่เป็นระบบ ไม่เน้นท่องจำ แต่เน้นการเข้าใจ เน้นแอปพลิเคชั่นให้เด็กเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก และมีความปลอดภัย สุดท้ายอยากจะบอกว่าการที่เด็กจะเก่งหรือไม่เก่งต้องดูที่เด็กคนนั้นมีเป้าหมายไหม เบลจะเน้นย้ำสอนการตั้งเป้าและส่งเสริมให้เด็กลงมือทำด้วยตัวเอง” ครูเบล กล่าวทิ้งท้าย