ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยผลการวิเคราะห์และติดตามการระบาดของโรคโควิค-19 ทั่วโลก ว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันกว่าหนึ่งเดือนแล้ว และผู้ติดเชื้อที่รายงานในแต่ละวันนั้นเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศซึ่งได้รับการดูแลในสถานที่ควบคุมของรัฐ (State quarantine)
อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีความน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นอีก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกือบ 200,000 คนต่อวัน และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการย้ายศูนย์กลางของการระบาดไปสู่แต่ละทวีปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถแบ่งศูนย์กลางการระบาดหลักได้ดังนี้
– ช่วงแรกของการระบาด ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน โดยเริ่มมีรายงานการติดเชื้อประปรายจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน
– ช่วงต่อมาเกิดการระบาดใหญ่ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะ ที่ประเทศอิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศ อื่นๆ เกือบทั่วยุโรป ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ควบคุมได้แล้ว แต่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในรัสเซียและสวีเดน
– ช่วงที่สาม ขยับศูนย์กลางการระบาดไปที่สหรัฐอเมริกาเกือบทั่วประเทศ พบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในรัฐนิวยอร์ก ทำให้มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาแล้วมากกว่าสองล้านคน ต่อมาการติดเชื้อลดลงระยะหนึ่งแต่กลับพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกในรัฐต่างๆเกือบทั่วประเทศ และมีแนวโน้มจะขยายต่อไปอีก
– ช่วงที่สี่ ได้ขยับศูนย์กลางการระบาดเข้าสู่ทวีปอเมริกาใต้และลาตินอเมริกา และเอเชียใต้/ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอยู่มาก รวมทั้งพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปแอฟริกา ซึ่งถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไม่มากนักแต่แอฟริกามีประชากรมากและระบบการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่พร้อม มีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงต่อไปได้
วช. ยังพบข้อมูลที่สำคัญในการติดตามการระบาดของโรคโควิด-19 คือ จำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานในแต่ละวันจากแต่ละประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดรวมทั่วโลกประมาณกว่า 6,000 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 โดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ต่อมาในช่วงต้นเดือนมิถุนายนได้มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณวันละ 4,000 ราย อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงคือ ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องอีก โดยเฉพาะจากทวีปอเมริกาใต้/ลาตินอเมริกา รองลงมาคือ เอเชียใต้/ตะวันออกกลาง ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือยังไม่ลดลง
ทั้งนี้ประเทศที่ต้องจับตามองสถานการณ์ในช่วงนี้ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู โคลัมเบีย อาร์เจนตินา เอกัวดอร์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และในอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ
อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี โอมาน แอฟริกาใต้ อียิปต์ และอินโดนีเซีย
สำหรับในภูมิภาคอาเซียน สถานการณ์ทั่วไปยังคงตัว แต่ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย วช.ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา จะทำรายงานข้อมูลแสดงเป็นกราฟ เผยแพร่ให้ประชาชนและผู้สนใจได้รับทราบต่อไป ส่งผ่านสื่อมวลชน และ FB สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม