สสว. เดินหน้าสานต่อโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME เป็นปีที่ 3 เผยผลงานปี 2563 ร่วมมือ 7 หน่วยงาน สร้าง 30 คลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง พัฒนา SME 4,246 ราย สร้างรายได้เพิ่ม 472 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการที่สำคัญของ สสว. คือ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มกำลังให้เกิดอำนาจทางการต่อรองมากขึ้น และยังก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับ SME พร้อมต่อยอดทางการเงิน และการตลาดต่อไปในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวการดำเนินงานหลักของ สสว. Connext กล่าวคือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมและขยายช่องทางทางการตลาด
“SME ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก จึงแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในการแข่งขัน รวมทั้งยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ องค์ความรู้ ให้สามารถนำจุดแข็งของแต่ละรายมาร่วมกันพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องรูปแบบ นวัตกรรมและการบริการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยที่ผ่านมา สสว. ได้เป็นหน่วยงานกลางระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในการดึงศักยภาพของทุกฝ่าย เข้ามาพัฒนาเอสเอ็มอีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME นี้ สสว. ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งการรวมกลุ่ม หรือการสร้างเครือข่ายในรูปแบบคลัสเตอร์ เน้นการกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ การพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายให้มีศักยภาพ ในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดในเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของไทยให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้รู้จักมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยร่วมดำเนินการ 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมคลธัญบุรี ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ปลากัด 3. มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร
ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Health Retreatment 4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ 5. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนา คลัสเตอร์ Sport Economy 6. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle และ 7. สถาบันอาหาร ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าว สับปะรด และกระเทียม
ด้านผลสำเร็จในการดำเนินโครงการในปี 2563 คือ สามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับ การพัฒนาและเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์ จำนวน 30 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบคลัสเตอร์ 4,246 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือมีการขยายตัว ทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 472.12 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้เท่านั้น แต่คลัสเตอร์ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังสามารถผลักดันและต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คลัสเตอร์ปลากัด ได้สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสมาคมปลากัดแห่งประเทศไทย ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานปลากัดและจัดประกวดปลากัดสวยงาม ทำให้มีการยกระดับมูลค่าของปลากัดทั้งในเชิงราคาในท้องตลาด และการส่งออก พร้อมทั้งได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัด โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Hub การส่งออกปลากัด ในฐานะปลาสวยงามไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน อินเดีย และเยอรมนี
ส่วนคลัสเตอร์คอสเพลย์ (Cosplay) ได้จัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้คอสเพลย์ไทยไปสู่มาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรในการนำเทคโนโลยีขั้นต้นมาต่อยอด พัฒนา ขึ้นเป็นถุงตากแห้งข้าว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการอบข้าวเปลือกให้ได้ความชื้นตามมาตรฐาน โดยมีจุดเด่น คือสามารถเคลื่อนย้ายได้ ช่วยประหยัดเวลาการเก็บข้าว สามารถลดระยะเวลาในการตากแห้งข้าวเปลือกได้ จากเดิม 5 วัน เหลือเพียง 3 วัน และสามารถลดต้นทุนค่าแรงลงได้กว่า 40 % การดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ในการสร้างพลัง ต่อยอดองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าให้กับ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างยั่งยืนต่อไป