ถอดบทเรียน “ชุมชนปลอดภัย” ผ่านผลการดำเนินงาน “เทศบาลเมืองน่าน” ชุมชนปลอดภัยมาตรฐานโลก พบปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เด็กได้ผลดีเยี่ยม-เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงเหยื่ออุบัติเหตุช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้กว่า 90% ด้าน “สสส.” ลุยขยายโมเดลความสำเร็จสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานชุมชนปลอดภัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดภัย และกระบวนการคุมประพฤติคนเมาแล้วขับ ของเทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน ในฐานะสมาชิกชุมชนปลอดภัยสากล (ISCCC) ซึ่งรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
สำหรับเทศบาลเมืองน่าน ผ่านการรับรอง ISCCC เป็นลำดับที่ 316 ของโลก และลำดับที่ 3 จากท้องถิ่นทั้งหมด 5 แห่งในประเทศไทย โดยได้ดำเนินงานบรรลุ 13 ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัย ที่ได้มาจากการสรุปร่วมกันของภาคีเครือข่ายและชุมชน ตามเป้าหมายที่ต้องการสร้างเมืองปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงในมิติต่างๆ
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เปิดเผยว่า ความปลอดภัยเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของการสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับประชาชนและผู้ที่เดินทางเข้ามา โดยการทำงานของเทศบาลเมืองน่านตั้งต้นจากการวิเคราะห์เหตุแห่งความไม่ปลอดภัยทั้งในเมืองและชุมชน จนเกิดเป็นตัวชี้วัดใน 13 เรื่อง ซึ่งหากดำเนินการบรรลุผลก็จะนำมาสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม
นายสุรพล กล่าวว่า จากความพยายามรณรงค์ด้านความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยบนท้องถนน พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ใหญ่หรือผู้ที่โตแล้ว ซึ่งแตกต่างกับการปลูกฝังในเด็กที่มักจะง่ายกว่า โดยตัวอย่างจากการสร้างเสริมพฤติกรรมการใช้หมวกนิรภัย พบว่าจากเดิมที่มีการสวมใส่ราว 43% แต่เมื่อทำงานรณรงค์ในกลุ่มเด็ก สถิติในบางแห่งกลับเพิ่มขึ้นเป็น 100% เป็นผลพวงจากการดำเนินโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย
“นอกจากเด็กจะเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมความปลอดภัยแล้ว เด็กยังนำกลับไปถ่ายทอดในครัวเรือน ขณะที่ผู้ปกครองก็มักจะเชื่อและรับฟังบุตรหลานของตนเอง นั่นทำให้เทศบาลเมืองน่านดำเนินงานในกลุ่มเด็ก ควบคู่ไปกับการรณรงค์ด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง” นายสุรพล กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า แม้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคือการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเกิดผล ดังนั้นอีกกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการทันทีก็คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลน่านได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินโครงการชุมชนปลอดภัย โดยคำว่าชุมชนปลอดภัยไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่เกิดอุบัติเหตุเลย 100% หากแต่ชุมชนเหล่านั้นจะต้องมีระบบและวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุแล้วก็พร้อมจะร่วมกันสอบสวนสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
ด้าน น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า การสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทยเพื่อที่จะมีอายุยืนยาวและสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพจำเป็นจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งโมเดลของเทศบาลเมืองน่านที่ท้องถิ่นเข้ามาเป็นแกนหลักในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าสามารถทำให้เกิดเป็นชุมชนปลอดภัยได้จริง และยังทำให้ได้รับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาตั้งแต่ปี 2556 และผ่านเกณฑ์การประเมินจนได้การรับรองซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2563 หลังครบรอบ1ทศวรรษของการทำงานด้านชุมชนปลอดภัยด้วย
“ในส่วนของ สสส.เองได้เข้ามามีส่วนช่วยเติมในแต่ละมิติของตัวชี้วัดต่างๆ เช่น กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ที่ขยายสู่การทำงานเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกันก็ขยับขึ้นมาสู่การวางแผนการจัดการภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ สำหรับชุมชนปลอดภัยทั้ง 5 แห่งของไทย สสส.จะพยายามขับเคลื่อนให้โมเดลนี้ขยายไปสู่ทุกเทศบาลในประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำคู่มือพร้อมกับเกณฑ์ตัวชี้วัด และมีตัวอย่างต้นแบบจากท้องถิ่นให้เห็นแล้ว” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว