นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) พัฒนาผลิตภัณฑ์ Nora serum “เซรั่มจากสารสกัดเปลือกมังคุดและส้มแขก” ที่มีฤทธิ์ในการลดริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ และยับยั้งแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรกต ชาตาธิคุณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์และสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Innovation and Health Products มวล. เปิดเผยว่า ตนและทีมนักวิจัยจากมวล.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดจากเปลือกส้มแขกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า สารสกัดจากเปลือกส้มแขกที่สกัดด้วยน้ำมีปริมาณ ฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในการสร้างเมลานินในผิวหนังชั้นนอกสุด สาเหตุของการเกิดฝ้า กระ และจุดด่างดำบนผิวหนัง และยังมีฤทธิ์ยับยั้ง เมลานินในเซลล์เมลาโนไซต์ชนิด B16F10 ที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเมลาโนไซต์สติมูเลติง ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Journal ปี 2020
ส่วนผลการวิจัยในเปลือกมังคุดพบว่า มีปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูง ซึ่งประกอบด้วย สารแซนโทนและสารแทนนินเป็นองค์ประกอบหลัก มีฤทธิ์ในการต้านสารอนุมูลอิสระสาเหตุของการเกิดริ้วรอยและยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวได้ ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงได้นำสารสกัดจากผลไม้ทั้งสองชนิดนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นาโนอิมัลชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ที่สำคัญได้ผ่านการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและการทดสอบการระคายเคืองจากอาสาสมัครจำนวน 24 คน และผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก ผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษาปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรกต กล่าวอีกว่า จากนั้นทีมนักวิจัยได้นำสารสกัดจากเปลือกมังคุดและส้มแขกมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มาส์กหน้า โดยใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชันและเซรั่ม (Nora serum) ที่มีคุณสมบัติในการลดริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว ลดปัญหาผิวที่เกิดจากการสะสมของสารเคมี โดยไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และพาราเบน ขณะเดียวกันตนได้เป็นที่ปรึกษาให้กับทีม Mora bright ซึ่งมีสมาชิกในทีม ได้แก่ 1) นายพิทักษ์สิทธิ์ ทรัพย์เจริญ 2) นางสาวพัชราภรณ์ พรมลัทธิ์ 3) นายอิทธิ คงแก้วและ 4) นางสาวอาทิตยา เพชรรัตน์ นักศึกษาสาขาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มวล. ซึ่งนักศึกษาได้เป็นตัวแทนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาส์กหน้าในโครงการ Startup Prototype Showcases of the Entrepreneurial university และคว้ารางวัลชนะเลิศ ทุนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จากโครงการ Walailak Enterpreneurial Ecosystem Development 2020 จากผลิตภัณฑ์เซรั่ม อีกด้วย
“ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยประเภทบุคคลภายใน มวล. และทุนสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก Startup Prototype Showcases of the Entrepreneurial university และ Walailak Enterpreneurial Ecosystem Development 2020 ซึ่งตนและทีมนักวิจัยประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.จิตรบรรจง ตั้งปอง คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มวล. และนักศึกษาทีม Mora bright รวมถึงได้รับความร่วมมือจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี เฉียบฉลาด อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายแพทย์ชนัทธ์ กำธรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สาขาตจวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันค้นคว้าวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้งานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุดและส้มแขกที่ผลผลิตราคาตกต่ำในบางฤดูกาล และการนำเอาสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่มักถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่ามาพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยและได้แจ้งจด อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ Facebook มอรา ไบร์ท (Mora Bright)” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรกต กล่าวในตอนท้าย