เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Peaceful Death) ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงาน “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้รับมือกับโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติการณ์อื่นๆ อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ ช่วยเปิดโอกาสในการพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตล่าสุดแล้วกว่า 20,387 คน ที่น่ากังวล คือ สมาชิกครอบครัวที่ต้องสูญเสียกะทันหัน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องสูญเสียปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ ยังไม่มีการรับมือได้อย่างเหมาะสม หากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็กไม่มีการพูดคุย อธิบาย หรือตอบคำถามให้เด็กเล็กเข้าใจ อาจส่งผลให้เด็กเกิดความกังวล ความเศร้า ความหวาดกลัว เสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมหนังสือและสื่อที่มีคุณภาพ โดยพัฒนาหนังสือนิทาน และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นเครื่องมือและกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพและสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยสื่อสารถึงความสูญเสียและปลุกพลังบวกให้กับเด็กๆ มุ่งสร้างครอบครัวอบอุ่น และชุมชนเข้มแข็ง สอดคล้องตัวชี้วัดของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติการณ์อื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสูญเสียบุคคลในครอบครัวโดยไม่ได้กล่าวลาด้วยกระบวนการไว้อาลัยที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด ทำให้กระบวนการการดูแลสุขภาพจิตคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่สูญเสียปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลเด็กต้องใส่ใจ เนื่องจากเด็กปฐมวัยยังไม่เข้าใจว่าการเสียชีวิตเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต การใช้สื่อนิทานเล่าเรื่องราว การสูญเสียกับเด็กปฐมวัยจึงเป็นวิธีการที่มีประโยชน์มากในการปรับสภาพจิตใจของเด็กเล็กให้พร้อมรับมือกับปฏิกิริยาการสูญเสียก่อนบอกถึงการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าเด็กปฐมวัย จะยังคงมีพฤติกรรมในการปลอบตัวเองอยู่บ้าง อาทิ ดูดนิ้ว โยกตัว ร้องไห้งอแง แต่หากพฤติกรรมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่นาน หรือทำให้ผู้ดูแลกังวลควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ช่วงปฐมวัยเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ หากผู้ใหญ่ในครอบครัวตระหนักและเข้าใจ ทุกภาคส่วนร่วมเข้ามาดูแล พัฒนา ปกป้อง คุ้มครอง เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยไม่เลือกปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตของสถานการณ์ที่ไม่ปรกตินี้ จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว และช่วยลดปัญหา ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาวได้
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กที่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการสูญเสีย รวมถึงวิธีการจัดการความเครียด จึงต้องการพลังบวกจาก คนใกล้ชิด การจัดงาน “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก ครั้งนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือที่ทรงพลัง ทั้งหนังสือนิทานภาพชุด “ภูมิคุ้มใจเพื่อ เด็กปฐมวัย” และกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ กิจกรรม “ภูมิคุ้มใจและจิตวิทยาการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์เปราะบาง” กิจกรรม “สานพลังการอ่านสร้างทักษะ Resilience kid” ที่จะทำให้พ่อ แม่ ครูผู้ดูแลและพัฒนาเด็ก รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ได้นำไปปรับใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงปลุกพลังบวกของเด็ก
สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” โทร.02-424-4616, 080-259-0909 และเว็บไซต์ www.happyreading.in.th