ที่ทำการบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน วุฒิสภา นำโดยนายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานอนุกรรมการฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ลงพื้นที่ศึกษาโครงการ Phuket Smart City ที่พัฒนาขึ้นโดยภาคเอกชนร่วมบูรณการระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อสร้าง City Data Platform (CPD) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และนำไปสู่แนวทางการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนในอนาคต
นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี ประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาเรื้อรังที่พยายามแก้ไขมานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ซึ่งในทางภาคนโยบายควรต้องกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และมีเป้าหมายลดความสูญเสียที่ชัดเจน ส่วนในระบบโครงสร้างพื้นฐานในระบบโลจิสติกส์และดิจิตัล ตั้งเป้าลดการสูญเสียให้ได้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ ศปถ. และจากการศึกษาพบว่า มีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเห็นว่า ควรมีหน่วยงานกลางเชื่อมการทำงานของทุกหน่วยเข้าด้วยกันผ่านฐานข้อมูลของทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลเองก็มีมติตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุเลขหมายเดียว 191 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้และให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว วุฒิสภาจึง กำหนดแนวทางที่จะตั้งศูนย์อุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางกำกับติดตามการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้ง 356 วัน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
“สำหรับการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบว่าเป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และพบว่าภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในการสร้างความปลอดภัย และเป็นจังหวัดแรกๆที่เอกชนมีแนวคิดที่จะร่วมสร้างศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุของจังหวัด ซึ่งตรงกับความตั้งใจของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะทำให้เกิดหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่หรือจังหวัดนั้น ๆ และสามารถวิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง” นายแพทย์ทวีวงษ์ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.กล่าวว่า สสส. สนับสนุนเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เชื่อมประสานและบูรณาการงานลดอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัด โดยใช้หลัก 5ส. ส.ที่สำคัญมากอันนึ่งคือ “สารสนเทศ” ใช้ข้อมูล-สถิติ-ความรู้ เป็นตัวนำและขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุ เก็บสถิติอุบัติเหตุ-เสียชีวิต ว่ามาจากเหตุปัจจัยใด พื้นที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีความร่วมมือเรื่องข้อมูลโดย สอจร. ได้เข้ามาเชื่อมการทำงานกับ บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ซึ่งบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จัดทำเรื่องของ Big Data ที่มีฐานข้อมูลอัจฉริยะหลากหลายด้านของ จ.ภูเก็ต ผ่านกล้อง ด้วยระบบ City Data Platform ปัจจุบันมีข้อมูลหลายด้าน เชื่อว่าหากมีการเชื่อมต่อข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ จะมาช่วยในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้มากยิ่งขึ้น…“หัวใจสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ คือ ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านข้อมูลนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รูปแบบของการเชื่อมต่อข้อมูลอาจออกมาในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่มีข้อมูลเส้นทางจากกล้อง CCTV ข้อมูลการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ข้อมูลของโครงการ Smart City ที่ช่วยให้เข้าถึงง่ายขึ้น และสามารถนำมาวิเคราะห์หาทางแก้ไขต่อไป สสส. มีเป้าหมายที่อยากใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาวางแผนแก้ปัญหา อาทิ เรื่องดื่มแล้วขับ ที่เป็นปัญหาความรุนแรงถึงชีวิต” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า การลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเกิดจากความร่วมมือของเครือข่าย จ.ภูเก็ต และสิ่งสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยข้อมูล และก่อนหน้านี้เป็นการทำข้อมูลด้วยการบันทึกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก สอจร.จึงมาร่วมหารือกับ บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด (City Data Analytic : CDA) เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรเข้ามารวมกับฐานข้อมูลของจังหวัด จะทำให้เรารู้ข้อมูลได้เรียลไทม์และแก้ไขได้ตรงจุด
ด้าน นายกฤษฎาพงษ์ ตันทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด (CDA) บริษัทเอกชนในเครือ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเสนอแนวทางแก้ปัญหาของจังหวัด ซึ่งทางบริษัทได้สนับสนุนในเรื่องที่เชี่ยวชาญคือแพลตฟอร์มข้อมูล โดยรวมเอาฐานข้อมูลจากหลายภาคส่วนมาไว้ในที่เดียว ซึ่งท้ายที่สุดข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การช่วยเหลือประชาชน…“จุดเด่นของแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เพียงการรวบรวมข้อมูล แต่ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วย กล่าวคือ ข้อมูลของเราสามารถบอกได้ 4 ข้อคือ 1. มีอะไรอยู่บ้าง 2.ทำไมถึงเป็นแบบนั้น 3. แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป 4. แล้วจะแก้ไขอย่างไร โดยเราจะมีข้อมูลในเชิงลึกและละเอียดมากขึ้น ว่าจุดไหนเกิดเหตุบ่อย ลักษณะการเกิดเป็นแบบไหน สาเหตุเกิดจาก รถ คน หรือถนน ช่วงอายุที่เสียชีวิต รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แน่นอนว่าในเรื่องการขอข้อมูลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้นเราจึงทำงานแบบภาคีเครือข่าย โดยมีแนวคิดที่ว่าคนที่ให้ข้อมูลต้องได้ใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลตามเป้าหมายของหน่วยงานตัวเองด้วย โดยที่ไม่ต้องลงแรงเพิ่ม” นายกฤษฎาพงษ์ กล่าว