ม.วลัยลักษณ์ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลปี2 มุ่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จับมือหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิจัยกระบี่โมเดลปีที่ 2 ใช้องค์ความรู้วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน

(18 พ.ย.’65) รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกระบี่โมเดล เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2แล้ว ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และความร่วมมือจากนักวิจัยระดับแนวหน้าของม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆในจังหวัดกระบี่ นำองค์ความรู้ลงไปขับเคลื่อน มุ่งแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะรายได้จากพืชหลักที่เกษตรกรดำเนินการอยู่ รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน

การดำเนินการโครงการกระบี่โมเดลในปีที่ 2 ได้ดำเนินโครงการวิจัยจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก การผลิตเห็ดร่างแห การพัฒนาผ้ามัดย้อมบาติกจังหวัดกระบี่ และการสร้างตัวแบบด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ ซึ่งได้มีการใช้องค์ความรู้ วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตและแปรรูป โดยเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร เพื่อลดการพึ่งพาจากหน่วยงานภาครัฐ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวถึงผลจากการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลที่ผ่านมา พบว่าสามารถนำองค์ความรู้ไปเปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตปาล์มน้ำมันจาก 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี เป็นประมาณ 4.5 ตันต่อไร่ต่อปี การเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงแพะในสวนปาล์มจาก 8 ตัวเป็นเกือบ 80 ตัวภายในระยะเวลา 2 ปี พร้อมลดค่าใช้จ่ายการดูแลสวนปาล์มไปพร้อมๆกันด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ การเพาะเห็ดร่างแห การผลิตเชื้อเห็ดภายในจังหวัดกระบี่ รวมถึงการพัฒนาสีธรรมชาติและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ สร้างผ้ามัดย้อมจังหวัดกระบี่ที่มีเอกลักษณ์ โดยการนำองค์ความรู้ด้านการตลาด สร้างประสิทธิภาพการผลิตและเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรไปสู่การผลิตและมีวิถีชีวิตแบบไม่รอ ไม่ขอ ลงมือทำ

“ผมขอขอบคุณนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน่วยงานต่างๆในจังหวัดกระบี่ ตลอดจนส.ส.ในพื้นที่และชาวบ้านทุกคน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนกระบี่โมเดล ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบทางสังคมที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในหลายๆ พื้นที่ และเป็นความภาคภูมิใจในฐานะนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยในการใช้ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง”  รศ.ดร.ศิวฤทธิ์กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *