ม.วลัยลักษณ์ จับมือ สมาคมวิทย์ฯ จัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 48 ชูแนวคิด“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้าสู่ SDGs” เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเป็นองค์ปาฐก นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาและผู้สนใจจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 48 The 48th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT48) ภายใต้แนวคิด“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้าสู่ SDGs” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2565 ณ ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช โดยได้รับเกียรติจาก Prof. R. W. Schekman นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2013 สาขาสรีรวิทยา/การแพทย์ ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Traffic of Cas9-gRNA Between Cultured Human Cells Mediated by Cell-Cell Contact” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งในและต่างประเทศกว่า 18 ประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันม.วลัยลักษณ์อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คณาจารย์ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยอย่างเข้มข้น ทำให้มีจำนวนผลงานวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะปี 2565 ผลงานวิจัยของเรามีจำนวนกว่า 675 บทความแล้ว และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Scopus Q1,Q2 กว่า 82.79% เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพิ่งได้รับการจัดอันดับโลก World University Rankings จัดโดย Times Higher Education (THE) ให้อยู่ในอันดับที่ 1501+ ของโลกและเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ 18 ประเทศเข้าร่วม กว่า 500 คน เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย และเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีการนำเสนอผลงานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ กว่า 400 ผลงาน ที่สำคัญยังได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นำโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2013 ร่วมเป็นองค์ปาฐก
นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมสัมมนาในด้านต่างๆ อาทิ เรื่องไม้และวัสดุชีวภาพ , พืชกระท่อมและกัญชา การบรรยายจากผู้ได้รับรางวัล Young Rising Stars of Science Award 2022 และ รางวัล Junior Young Rising Stars of Science Award 2022 รวมถึงการจัดค่าย “เวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ” ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย
“วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน และทำให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ร่วมมือกันค้นหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้”นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯกล่าว