หนุ่มศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เปลี่ยนดีไซน์ใหม่ เพื่อการใช้งาน ‘กระถางธูปและเชิงเทียน’ สำหรับศาสนสถาน

โปรดักดีไซน์เนอร์ รั้วราชมงคลธัญบุรี ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ที่ได้จัดทำโครงการออกแบบและพัฒนากระถางธูปและเชิงเทียนสำหรับศาสนสถาน ซึ่งได้จัดแสดงผลงานดังกล่าวในนิทรรศการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ ‘จำศิลป์’ ประจำปีการศึกษา 2566 ณ หอประชุมราชมงคล มทร.ธัญบุรี ที่ผ่านมา

ด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการ รวมทั้งแก้ปัญหาจาก Pain Point ของผู้คนยุคปัจจุบันที่มาทำกิจกรรมในศาสนสถาน เช่น พุทธศาสนสถาน ที่เป็นสถานที่หรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ในกิจการหรือเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นวัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์และสถูป ที่มีการจุดธูปและเทียน เพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดย มีน-นิธิศ เพ็ญเขตรกรณ์ หนุ่มเจ้าของผลงาน วัย 24 ปี เผยที่มาและแรงบันดาลใจ

“ศาสนสถาน หรือ Place of worship เป็นสิ่งก่อสร้างหรือพื้นที่อันสำคัญที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้ปัจเจกหรือกลุ่มคนต่าง ๆ ได้เข้ามาประกอบการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการเคารพ อุทิศตน หรือศึกษาทางศาสนา ส่วนใหญ่แล้วศาสนสถาน จะมีการบูชาในทางศาสนาและความเชื่อ จากทั้งศาสนิกชน ผู้มาเยือนและเป็นที่อาศัยพำนักเพื่อการปฏิบัติของเหล่านักบวชหรือผู้มีหน้าที่ในทางศาสนา สำหรับในประเทศไทยแล้ว ที่โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ก็จะมีพุทธศาสนสถานมากมายหลายแห่ง เพื่อใช้ในกิจการหรือเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นวัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ และสถูป รวมถึงสิ่งสักการะต่าง ๆ ที่มีการจุดธูปและเทียนเพื่อแสดงถึงการเคารพบูชา กราบไหว้ อันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา หากศาสนสถานใดได้รับความนิยม ก็จะมีผู้คนหลั่งไหลเข้าชมและจุดธูปเทียนกันอย่างหนาแน่น และเชื่อว่าปัญหาสำคัญคือการปักธูปเทียนที่ได้จุดขึ้น” มีน อธิบาย

ศาสนสถาน มักใช้ทราย ขี้เถ้า รวมถึงข้าวสาร ใส่ในกระถางสำหรับการปักธูป และใช้แท่นวางเทียน หรือเชิงเทียนเพื่อเป็นฐานสำหรับวางเทียน ซึ่งมองว่าเกิดความลำบากแก่การปักธูปและเทียน เช่น ปักยาก ปักแล้วล้ม โดยเฉพาะศาสนสถานที่ได้รับความนิยม ขณะเดียวกันผู้ใช้งานทั้งกระถางธูปและเชิงเทียนต่างก็เจอปัญหาด้านการทำความสะอาดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคราบน้ำตาเทียน ฝุ่น ผงธูป ก้านธูป บนกระถางธูปและเชิงเทียน ซึ่งถือว่ายากต่อการทำความสะอาด หลายครั้งก็อาจได้รับอันตรายร่วมด้วย เช่น น้ำตาเทียนหยดใส่ ความร้อนจากธูปและเทียน ตนจึงคิดแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบและพัฒนา ‘กระถางธูปและเชิงเทียน’ สำหรับศาสนสถาน

 มีน เล่าว่า ตนเองได้แนวคิดการออกแบบมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานกระถางธูปและเชิงเทียน จึงได้ออกแบบ โดยมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำความสะอาดได้ง่าย ลดอันตรายจากการใช้งาน และสอดแทรกตัวผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามสอดคล้องกับศาสนสถาน ด้านวัสดุ ได้เลือกใช้สแตนเลส ซึ่งมีคุณสมบัติที่แข็งแรง ทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน กล่าวคือส่งเสริมการใช้วัสดุและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานนาน ที่สามารถลดปริมาณขยะและการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตได้ ส่วนด้านรูปทรง เลือกเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งง่ายต่อกระบวนการผลิต ช่วยให้กระถางธูปและเชิงเทียนไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ด้านลวดลาย เน้นที่ลวดลายไทย ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมที่จะเป็นกระถางธูปและเชิงเทียน

“ผลิตภัณฑ์กระถางธูป จะมีช่องตะแกรงสำหรับปักธูป ทำให้ปักธูปโดยไม่ต้องใช้ดินหรือทรายช่วยทำให้ปักธูปได้ง่ายและไวยิ่งขึ้น ผงธูปและก้านธูปจะหล่นไปในถาดที่รองรับด้านล่าง ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มีแปรงสำหรับกวาดผงธูป จึงง่ายต่อการทำความสะอาดผงธูปหรือก้านธูป รวมถึงง่ายต่อการจัดเก็บ ส่วนผลิตภัณฑ์เชิงเทียน ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ มีช่องสแตนเลสสำหรับปักเทียนที่จุดแล้ว ซึ่งสามารถปักเทียนได้หลายขนาด ทำให้ปักเทียนได้ง่ายและแท่งเทียนไม่ล้ม ในแต่ละช่องที่ปักเทียน ด้านล่างจะมีคันโยกสำหรับทำความสะอาดช่องปักเทียน เมื่อโยกลง จะมีแท่งสแตนเลส ช่วยดันน้ำตาเทียนที่เกิดจากการหยดไหลของเทียนที่หลอมละลายจากความร้อนจนกลายเป็นน้ำตาเทียน ที่คงค้างและอุดรูด้านใน โดยแท่งดังกล่าวนี้จะทำความสะอาดน้ำตาเทียนในช่องปักเทียนน้ำตาเทียนที่ติดอยู่ในช่อง จะถูกดันออกมา และจะตกไปอยู่ในถาดด้านล่าง จึงง่ายต่อการใช้งานและการทำความสะอาดเชิงเทียน” เจ้าของผลิตภัณฑ์ อธิบาย

มีน เน้นย้ำว่า อย่างไรก็ตาม การจุดธูปและเทียนเพื่อการเคารพบูชา อาจเป็นความสุขทางจิตใจของใครหลายคน แต่การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ก็เป็นความสุขทางกายซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอันตรายจากการเผาไหม้ ฝุ่นละอองและควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียน

“ผมภูมิใจในผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบ และได้นำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ‘จำศิลป์’ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก สิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งรอบตัวเรา เหมือนกำลังฟ้องเรา และให้เราช่วยแก้ปัญหา เหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้ และตนมองว่า ทุก ๆ ปัญหา สามารถแก้ไขให้ดีได้ ด้วยการออกแบบ ขณะเดียวกันก็อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้รับการต่อยอด และนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมโทร 080 945 4622” มีน สรุปทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *