มิถุนายน #PRIDEMONTH ของพวกเรา RSU LGBTQIAN+

          เดือนมิถุนายนของทุกปีในทั่วทุกมุมโลก เราจะเห็นกิจกรรมเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบในเรื่องราวของเดือนที่มีชื่อว่า Pride Month หรือ เทศกาลไพรด์ เพื่อเป็นการเคลื่อนไหว สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมในด้านต่างๆ ของ LGBTQIAN+ บรรยากาศทุกพื้นที่จะสดใสไปด้วยสีสัน การตกแต่งประดับธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมของทุกเพศ เรียกได้ว่าเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของพวกเขา LGBTQIAN+  สารรังสิตฉบับนี้จะพามาพบกับมุมมองและการนิยามคำว่า “หลากหลาย” ของพวกเขา นักศึกษา และศิษย์เก่า RSU LGBTQIAN+

ลูกปัด – ปุริมปรัชญ์ ไชยะคำ ศิษย์เก่าวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต (ผู้บริหาร “หมู่บ้านช้าง พัทยา” และ “มองช้างคาเฟ่”)

“สำหรับปัท Pride month เป็นเดือนแห่งคำว่า เสรีเพศ เพื่อให้ทุกคนในโลกเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นว่าในธรรมชาตินั้น สร้างทุกอย่างได้หลากหลายเสมอ และความเป็นมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงชายแท้ หญิงแท้ ที่อยู่ร่วมกันเท่านั้น หากเปรียบเป็นสี คงไม่ดีแน่ถ้าโลกนี้มีแค่สีดำหรือสีขาว แต่ความหลากหลายของสีมากกว่าที่ทำให้โลกสดใส เพื่อปรับสมดุลและมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป ความรักก็เช่นกัน เรากำหนดความเสรีในรักให้ไม่เสรีในเพศ ไม่ได้ เพราะความรักขึ้นอยู่กับบุคคล ไม่ใช่เพศ”

โน้ต – อดิเรก เรือนปิน ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (Miss LGBT Thailand 2024)

“ความหลากหลายสำหรับโน้ต คือโลกใบนี้ค่ะ ที่ทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา รูปร่าง หน้าตา สีผิว หรือแม้กระทั่ง “เพศ” ความแตกต่างเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้โลกของเราสวยงามมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าเราจะต่างกันอย่างหลากหลาย แต่เราก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ในเทศกาล Pride Month ที่กำลังจะถึงนี้ โน้ตอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับความแตกต่าง ไม่ปิดกั้น ไม่แบ่งแยก เคารพในความหลากหลาย มาร่วมกันเฉลิมฉลองและผลักดันกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม“ ไม่ใช่แค่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อ เราทุกๆ คน”

เปเปอร์ – พีรดา นามวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เจ้าของฉายานางฟ้าอัสสัมชัญ)

          “นิยามหลากหลายทางเพศ จริงๆไม่ได้มีอะไรมากค่ะ  ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าหลากหลาย เปเปอร์คิดว่าในประเทศไทยเราตอนนี้ค่อนข้างเปิดกว้างมากๆ แล้วค่ะ จากที่ไปมาหลายประเทศถ้าจะให้พูดถึงเดือนนี้ก็ อยากให้ใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพได้แล้วค่ะ เราทุกคนไม่สามารถที่จะเลือกเกิดได้ว่าอยากเป็นเพศอะไรอยากให้ตรงนี้ผ่านค่ะW

โป้ง – จรัญ คงมั่น ศิษย์เก่าสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟชั่นดีไซเนอร์ , นักเคลื่อนไหว LGBTIQN+ , ผู้ร่วมก่อตั้งนฤมิตไพรด์ และ Bangkok Pride)

“ในเดือน June หรือ Pride month อาจจะเป็นช่วงเวลา ที่ทำให้เรานึกถึงการเฉลิมฉลองสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN+ แต่ความเป็นจริงแล้วประเด็นเรื่องความหลากหลายนี้อยู่คู่กับสังคมเราในตลอดเวลาทุกๆ วัน มีประวัติศาสตร์ มีการเรียนรู้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา Pride month จึงเป็นเพียงโอกาสที่ทำให้เราตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายนี้ เพื่อไม่ให้ลืมจนไปถึงช่วงเวลาอื่น ๆ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากการเฉลิมฉลอง ยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราสามารถรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดจากความไม่เข้าใจ รับฟังประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนให้สังคมเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงส่งต่อความหวังว่าวันหนึ่งความเท่าเทียม และเป็นธรรมทางเพศจะสามารถเกิดขึ้นได้ภายในสังคมที่เรายืนอยู่”

นรา วรหิรัญ ศิษย์เก่าวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (CEO And Co-founder บริษัท COKALOK UNIVERSE)

“ความหลากหลายต้องไม่ถูกพูดถึงแค่เรื่องเพศ แต่ความหลากหลายต้องถูกยอมรับในทุกสิ่งที่เป็น”

ออสติน – สรวิศ วรรณศักดิ์สกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง วิทยาลัยฮอสปิตอลลิตี้ มหาวิทยาลัยรังสิต

“ใช้ชีวิตให้เป็นตัวเรา พวกเราคือคนทั่วไป ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย ขอแค่พื้นที่ปลอดภัยให้ LGBTQA+ เราทุกคนมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน ขอเเค่ไม่เบียดเบียนกันก็กันก็พอ”

ตัวต่อ – ลภัสลดา โคตรอาษา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต (Top 5 Miss Tiffany 2024)

“ความหลากหลายทางเพศ ขอแค่เข้าใจกันก็พอ เรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เราต้องไม่นำกรอบเรื่องเพศ มาเป็นตัวกำหนด”

เจแปน – ญาณาธิป ประเสริฐทรง นักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต คณะนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต

“LGBTQ+ ก็คือบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะแตกต่าง หลายคนโดนทำร้ายไม่ว่าทางกายหรือจิตใจเพียงเพราะพวกเขาไม่เป็นไปตามที่สังคมกำหนด ทั้งๆที่พวกเขาแค่ใช้ชีวิตตามปกติที่ทุกคนทำและไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำไมพวกเขาถึงต้องเจ็บปวด ต้องพิสูจน์ตัวเอง หรือแม้แต่การยอมรับก็ต้องร้องขอ พวกเขาควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมือนคนในสังคมทั่วๆไป เพราะพวกเขาก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง อย่าให้ใครต้องโดดเดี่ยวเพียงลำพัง”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *