กายภาพบำบัดฯ ม.รังสิต จับมือ สถาบันสิรินธรฯจัดอบรมหลักสูตร IMC มุ่งพัฒนาระบบบริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยระยะกลาง

          คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นกายภาพบําบัดเพื่อการฟนฟูสมรรถภาพระยะกลาง รุนที่ 3 มุ่งพัฒนาระบบบริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยระยะกลาง พร้อมมอบประกาศนียบัตรหลังการฝึกอบรม

          ดร.สมชนก รังสีธนกุล ประธานหลักสูตรอบรมระยะสั้นกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง Program of Physical Therapy (Rehabilitation in Intermediate Care) หรือ IMC รุนที่ 3 คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้มีบริการเรื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 4 กลุ่มโรคคือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บของสมอง การบาดเจ็บไขสันหลัง และคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องของกระดูกสะโพกหัก ซึ่งเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีความบกพร่องเรื่องของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและการเคลื่อนไหว ดังนั้น จะมีข้อจำกัดในการไปใช้ชีวิตต่อ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มีความหมายต่อชีวิตของเขาในหลายๆ ด้าน ทางคณะกายภาพบำบัดฯ ม.รังสิต และสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ เห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง เพื่อให้การจัดบริการ หรือการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะนี้ให้มีคุณภาพต่อไป จึงร่วมกันจัดหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา โดยครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 3

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาบุคลากรที่เข้ามาอบรมได้เริ่มจัดตั้งศูนย์ต่างๆ และเริ่มดำเนินการไปแล้วบางที่จะมี IMC วอร์ด หรือศูนย์ร่วมสุข ศูนย์ฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งความแตกต่างของรุ่นนี้คือ ผู้เข้าร่วมการอบรมจะมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากบางพื้นที่จะมีรุ่น 1 และรุ่น 2 ไปพัฒนางานแล้ว แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ในเรื่องของเนื้อหาการเรียนการสอนที่เข้มข้นขึ้น เพื่อต่อยอดให้ตอบโจทย์กับบริบทของผู้เข้ารับการอบรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการพัฒนาคุณภาพบริการ การนำศาสตร์อื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องนอกจากจะเป็นเรื่องของทักษะกายภาพบำบัดต่างๆ ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว เราอาจจะต้องนำเรื่องของการคิดเชิงระบบหรือการจัดการเชิงระบบต่างๆ เข้ามาเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมไปต่อยอดในงานบริบทของเขา หลังจากนี้ก็จะพัฒนาหลักสูตรต่อยอดให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อตอบรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป” ประธานหลักสูตรฯ กล่าวเสริม

          ด้าน พญ.ดวงจิตร สมิทธิ์นราเศรษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเทคโนโลยีคนพิการ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่าความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะกลางในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอกับผู้ป่วย เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยมักจะเข้าถึงบริการล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ ทำให้เกิดความพิการและถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการให้คนไข้เข้าถึงบริการก่อนที่จะสายเกินแก้ ดังนั้น ความสำคัญของ IMC ถือเป็นที่มาของระบบนี้

          การพัฒนาระบบ IMC อันดับแรกคือ ต้องเข้าถึงตัวผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มป่วยจากโรงพยาบาลที่มีการผ่าตัด มีการดูแลภาวะฉุกเฉิน นอกจากเข้าถึงแล้วเราส่งต่อ ระบบการส่งต่อที่ทำให้เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง ในเวลาที่เข้มข้น การเข้ารับบริการเข้มข้นทางการแพทย์เราเรียกว่า ช่วงเวลาทอง ถ้าหากว่าเรามีระบบการเข้าถึงส่งต่อ การจะดูแลฟื้นฟูระยะต่อเนื่องทางกายภาพบำบัดก็จะไม่ขาดช่วง ทั้งนี้ ความสำคัญของการอบรมมีความสำคัญทุกรุ่น และการที่ทางโรงพยาบาลส่งบุคลากรมาอบรม มีความหมายรวมถึง รพ.นั้นๆ จะเตรียมพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรพร้อมที่จะดูแลอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น หลังจากการอบรมแล้ว ทางทีมกายภาพบำบัดจะมีความรู้ความสามารถในการพัฒนากลุ่มผู้ป่วยสำคัญที่เราพูดถึงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม รวมไปถึงการปรับระบบของโรงพยาบาลให้มีการจัดการผู้ป่วยในทุกมิติ  กภ.อดิศร ชลจิตต์ นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมะขาม จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ตรงตามที่คาดหวังคือ รูปแบบและขั้นตอนการให้บริการที่น่าจะเพิ่มการเข้าถึงของคนไข้ได้มากและครอบคลุมต่อเนื่องขึ้น ตอนที่ไปฝึกประสบการณ์จริงในโรงพยาบาลชุมชน ที่รพ.แก่งคอย ซึ่งเป็นต้นแบบของศูนย์ร่วมสุข สามารถให้บริการคนไข้ในชุมชนได้มาก โดยที่คนไข้ไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล ซึ่งน่าสนใจที่เขาขยายบริการได้เยอะมาก สำหรับสิ่งที่คิดว่าจะนำไปต่อยอดพัฒนาในรพ.คือ โครงการเปิดศูนย์ร่วมสุขให้คนไข้ในชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูในแต่ละพื้นที่ตำบลต่อไป

กภ.ถกลวรรณ์ บุญเต็ม นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบ IMC ทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัด การเข้ามาอบรมในหลักสูตรนี้มีความคาดหวังว่าเราจะได้ดูในเรื่องระบบงานของ IMC ทั้งความรู้ที่จะนำไปวิเคราะห์ระบบงานและตัวอย่างที่เราอาจจะได้เห็น สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้คือ ประเด็นเรื่องของการจัดการระบบ ได้ความรู้จากอาจารย์ในการวิเคราะห์ระบบได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ได้คือการแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมอบรมที่มาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนประเด็นความรู้ ทักษะทางคลินิก ถือว่าตนเองได้มาทบทวนความรู้ รวมถึงได้เครือข่าย ซึ่งจะเป็น 2 รูปแบบคือ เครือข่ายทางคลินิกจากผู้เข้าร่วมการอบรมด้วยกัน และเครือข่ายทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยและงานวิชาการในอนาคต

นอกจากนี้จะนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดในรพ. คือ จากตัวอย่างที่เห็นในเรื่องของระบบงานคิดว่า ด้วยบริบทของตัวเองเป็น รพ.แม่ข่าย เราก็จะไปปรับระบบของเรา และในขณะเดียวกันเราดูเครือข่ายทั้งหมด ก็จะมีแพคเก็จตามความเหมาะสมของเครือข่ายของแต่ละรพ. สามารถที่จะวิเคราะห์แล้วก็นำรูปแบบต่างๆ ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสามารถเลือกใช้ได้

          กภ.นุสมล ใจกล้า นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมนอกจากจะได้ความรู้ที่ตอบโจทย์แล้ว วิทยากรมีการสื่อสารทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และส่วนที่ 2 คือ ได้รู้จักเพื่อนๆ แต่ละรพ. มีการแชร์ความรู้ความเข้าใจกัน เราสามารถนำความรู้นี้ไปพัฒนาให้เข้ากับบริบทของรพ.เราได้

สำหรับการพัฒนาต่อยอดในรพ. คือ ต้องการเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ของนักกายภาพบำบัดที่ยังไม่ได้เข้ารับการอบรมให้มีความรู้เท่าๆ กัน โดยเราเป็นที่ปรึกษาให้ สองคือการพัฒนาศักยภาพให้กับทีมอาสาฟื้นฟูของเรา ปัจจุบันของอำเภอพิมาย จะมีทีมอาสาฟื้นฟูในการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง จึงอยากพัฒนาให้เขามีองค์ความรู้ให้เท่าๆ กันกับเรา เพื่อดูแลในชุมชนได้ และในส่วนของการกลับไปทำโครงการพัฒนาส่วนอื่นๆ ในเรื่องของการของบประมาณ การเข้าถึงของคนไข้ให้คนไข้ได้รับบริการอย่างเต็มที่

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *