วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยการสนับสนุนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ พัฒนาชุดความคิดและทักษะ Digital Transformation ให้กับวิศวกรชีวการแพทย์จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยการสนับสนุนทุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการดำเนินการพัฒนาชุดความคิดและทักษะ Digital Transformation ให้กับวิศวกรชีวการแพทย์จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ผ่านโครงการ International Training Course-2024 เรื่อง “Upskilled Biomedical Engineers for Transformation of Healthcare Technology Support” โดยมีวิศวกรชีวการแพทย์จากกว่า 20 ประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลกเข้าร่วมอบรม จำนวน 70 คน ระหว่างวันที่ 3-26 มิถุนายน 2567
วัตถุประสงค์ของการจัดการอบรมหลักสูตรดังกล่าว เนื่องมาจากกระบวนทัศน์ทางด้านการแพทย์ของโลกได้เปลี่ยนจากแบบ Volume Based การแพทย์เชิงรักษาเป็นเชิง Value Based หรือการแพทย์เชิงป้องกันหรือการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนที่มุ่งพัฒนาในด้านของการเข้าถึงการดูรักษาสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ทันเวลา ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความเท่าเทียมและการให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่เรียกเป็นตัวย่อว่า “STEEEP” ทั้งนี้ เนื่องจากยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ดังนั้น เสาหลักของการการแพทย์ยุคใหม่ที่สำคัญนอกจากบุคลากรทางการแพทย์และยารักษาโรคแล้วก็คือ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งบุคลากรที่รับผิดชอบหลักก็คือ อาชีพที่เรียกว่า “วิศวกรชีวการแพทย์ (Biomedical Engineers)”
ในฐานะที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มากว่า 20 ปี มีความพร้อมในทุกด้านมากเพียงพอในการที่จะเป็นขุมพลังแห่งปัญญาและชี้นำสังคมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ รวมทั้งเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในด้านการมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ใหม่ทางด้านการแพทย์นี้ จึงได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศให้จัดอบรมหลักสูตรแบบ Non Degree เรื่อง “Upskilled Biomedical Engineers for Transformation of Healthcare Technology Support” ระหว่างวันที่ 3-26 มิถุนายน 2567 โดยมีวิศวกรชีวการแพทย์ จากกว่า 15 ประเทศ ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน
“จากผลการดำเนินการของหลักสูตรดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งในด้านผลการประเมินเบื้องต้นจากผู้เข้าร่วมอบรม โดยทางวิทยาลัยฯ ได้คาดหวังว่า ผู้สำเร็จการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถใช้ชุดความคิด ชุดองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนางานจนมีความก้าวหน้า ทั้งทางด้านผลการดำเนินงาน ตำแหน่งงานและค่าตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำคัญที่สุดก็คือผลทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชนของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งนำไปขยายผลให้กับบุคลากรและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศตนเอง และ/หรือเครือข่ายประเทศใกล้เคียงอีกทางหนึ่งในอนาคต
ในทางกลับกันผลทางอ้อมอีกด้านหนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ได้รับความเชื่อมั่นในการเข้ารับการพัฒนาชุดความคิด ชุดองค์ความรู้ และชุดทักษะทางด้าน Smart Medical Devices และ Smart Healthcare Technology จากผู้เข้ารับการอบรมจากประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ เป็นการแสดงเห็นถึงศักยภาพในการเป็นขุมพลังแห่งปัญญาและการชี้นำสังคมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ตามวิสัยทัศน์ของท่านดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต” คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวปิดท้าย