วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี ระนอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และองค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการอาชีพละงู จัดกิจกรรม สัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบ ยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา โดยมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และอัพเดทสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกิจกรรมสร้างสรรค์ “ดนตรีเล่าเรื่อง” เพื่อการพัฒนาเครือข่ายครูอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง โดยศิลปิน แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การบริโภคบุหรี่และยาสูบมีแนวโน้มโน้มลดลง แต่กลับพบจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจาะกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก จากผลสำรวจปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 17.6% หรือ 5.3 เท่า โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะผิดกฎหมาย แต่ก็แอบขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 และยังพบตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซองและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติโดย ร้อยละ 31.1 เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และร้อยละ 36.5 เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น
“ซึ่งทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทำให้เกิดการเสพติด และอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ายังมีมากกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายเกือบ 2,000 ชนิด และนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อสูบแล้วจะเป็นไอละอองฝอยเทียบเท่าฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปทำลายสุขภาพปอดและระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเสพติดง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และงานวิจัย ยังพบว่า เด็กที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4-5 เท่า ขณะที่เด็กจะมีพฤติกรรมการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มเป็น 7 เท่า และยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นอีกด้วย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายจิรพงษ์ โลพิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นวันนี้มาจากโครงการที่นักศึกษาแกนนำเขียนขึ้นจากการไปร่วมอบรม ในชื่อ “คนรุ่นใหม่ไม่สูบ ไม่ดื่ม พักตับ พักปอด” โดยทางวิทยาลัยได้สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน ท้องถิ่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาล ในการคัดกรอง และส่งนักศึกษาเข้ารับการบำบัดกรณีที่ตรวจพบว่า มีพฤติกกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือพบการใช้สารเสพติด ขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันในสถานศึกษา จะมีครูแกนนำในโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษาที่คอยให้ความดูและนักเรียนนักศึกษา ผ่านกิจกรรมพูดคุยในคาบโฮมรูมและหน้าเสาธง รวมทั้งการตรวจตราก่อนเข้าเรียนทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา เดินรณรงค์ป้องกันทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาอีกด้วย ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่มีกิจกรรมนี้ขึ้นมา ทำให้เด็ก ๆ จะได้รับฟังเรื่องราวประสบการณ์ตรงของผู้ที่เคยก้าวเดินผิดพลาด และสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ ที่ทำให้เด็กได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับพลังบวก ที่จะเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตได้
“นอกจากนี้วิทยาลัยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมกวาดบ้านกับทางอำเภอ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสีขาว ได้ช่วยกันคัดกรองเด็กอย่างละเอียด ทำให้ในปีการศึกษาที่ผ่านมาไม่พบเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง ขณะที่เด็กในกลุ่มเสี่ยง ก็มีการใช้เครือข่ายผู้ปกครอง ให้เขาได้รับทราบปัญหาว่าเด็กมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าน เพื่อร่วมเป็นหูเป็นตา ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะร่วมปกป้องเยาวชนจากทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์ เนื่องจากเด็กในวิทยาลัยเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง ทำให้เด็กอาจขาดความรักความอบอุ่น และอาจหันไปพึ่งพาเรื่องที่ไม่ควรเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี กล่าว
นายรัชชานนท์ เชาว์ช่างเหล็ก ครูแกนนำวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. มาจากความตั้งใจที่จะช่วยให้เด็กเลิกยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง เนื่องจากนักศึกษาที่เข้ามาในระดับ ปวช. มาจากสถานศึกษาในระดับมัธยมต้น มักจะติดการสูบบุหรี่มาอยู่แล้ว ซึ่งมีข้อมูลน่าตกใจคือ เด็กเริ่มสูบกันตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4-5 เริ่มจากการสูบบุหรี่มวน เป็นการทดลองตามเพื่อน นี่จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องช่วยเหลือในการให้เขาเลิกบุหรี่ให้ได้ โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และยาเสพติด ให้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้นักเรียนได้รับทราบ รับรู้ และระวังตัวมากขึ้น แต่ความน่าเป็นห่วงคือ เมื่อเขากลับไปบ้าน จะทำอย่างไรให้เขาไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดได้ เนื่องจาก หลายครอบครัวผู้ปกครองดื่มเหล้า สูบบุหรี่ให้เด็กเห็นจนชินตา เป็นโจทย์ที่ทางวิทยาลัยต้องสร้างเครือข่ายให้ผู้ปกครองเข้าร่วม
นางสาวณัฐวดี กิ่งแก้ว นักศึกษาชั้น ปวช.3 สาขาวิชาการบัญชี นักศึกษาแกนนำ กล่าวว่า ในช่วงวัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นช่วงอยากรู้อยากลอง โดยเฉพาะบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้สูบ และคนรอบข้าง จากการที่ได้พบเห็นเพื่อน ๆ บางคนสูบบุหรี่โดยอาศัยห้องน้ำเป็นพื้นที่แอบสูบ เวลาเข้าห้องน้ำจะรู้สึกมีความกังวลอย่างมาก เพราะมีกลิ่นเหม็นจากบุหรี่มวน ควันจากบุหรี่ไฟฟ้า และในฐานนะนักศึกษาแกนนำที่เข้าร่วมโครงการ ได้มีการจัดประกวดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก การอบรมเรียนรู้โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง รพ.สต. ที่มาให้ความรู้เรื่องโทษต่อสุขภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กระบุรี ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายบุหรี่บุหรี่ไฟ้และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีกิจกรรมการเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในสถานศึกษาอีกด้วย
“อยากฝากถึง เพื่อนๆ พี่น้อง ที่กำลังสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสารเสพติด ว่าขอให้ งดสูบ งดเสพ ถ้าไม่ทำเพื่อตัวเราก็ขอให้ทำเพื่อครอบครัว และคนรอบข้าง” นางสาวณัฐวดี กล่าว