สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำแผนและนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินโครงการจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) โดยอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะสาธารณูปโภค ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงมีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับอีกหลายภาคเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง ธุรกิจการเงิน การประกันภัย การบริหารจัดการ และการจ้างงาน เป็นต้น
โครงการจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและจัดทำแผนภาพอนาคตของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) อันเป็นผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกต่าง ๆ (Global Trends) ตลอดจนเพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) ทั้งแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ที่สำคัญเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) ของประเทศไทยที่เห็นผลเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การผลักดันและขยายผลการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในสาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยต่อไป
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า “สศอ. มีเป้าหมายที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวข้ามประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) โดยเร่งกำหนดมาตรการเพื่อเพิ่ม Productivity และเตรียมพร้อมหากลไกในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยขยายขอบเขตจากการพัฒนาภาคการผลิตสู่การพัฒนาภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรม (Service Providers) รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยวางกรอบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve 12 สาขา จะเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการ/ แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม จะมุ่งยกระดับปรับสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก เช่น Technical Textile / Green Steel เป็นต้น
- กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับเทรนด์โลกและภาคเศรษฐกิจอื่น โดยมุ่งเน้นการปรับรูปแบบ (Reshape) อุตสาหกรรมไทยสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ”ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม” ให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับเทรนด์โลกและภาคเศรษฐกิจอื่นรองรับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศและในแต่ละพื้นที่ อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ สศอ. ได้คัดเลือก “อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม” มาเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
“อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อ GDP ของประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่า การลงทุนก่อสร้างมีจำนวน 1.36 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน ร้อยละ 7.7 ของ GDP และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของงานก่อสร้างภาครัฐ : เอกชน พบว่า มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 58 : 42 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการก่อสร้าง (Building Information Modeling : BIM) และการพัฒนานวัตกรรมทางด้านวัสดุศาสตร์ (Modular Concept) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายและการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงลดระยะเวลาและของเสียในกระบวนการผลิต สศอ. มุ่งหวังที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรมของประเทศไทยที่เห็นผลเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การผลักดันและขยายผลการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในสาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวทิ้งท้าย