เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดเวทีสรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่) ในสถานศึกษา พร้อมร่วมถอดบทเรียน เยี่ยมชมผลงานจากกิจกรรมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษานำร่อง 45 แห่งจากทุกภูมิภาค
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี 2563 ขณะดำเนินการใกล้สิ้นสุดระยะที่ 2 โดยมีวิทยาลัยทั้ง 45 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการดำเนินโครงการ ที่สำคัญกลุ่มเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 ภายใต้โครงการ Global Youth Tobacco Survey ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 รวมถึงการกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า มีภาพลักษณ์ที่น่ารัก ทันสมัยและชวนให้ลิ้มลองเป็นอย่างมาก ซึ่งเยาวชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย เช่น บุหรี่ไฟฟ้า แค่มีกลิ่นที่หอม ความจริงคือ กลิ่นจากไอบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายทำลายปอด ทำให้เกิดปอดข้าวโพดคั่ว หรือ Popcorn lung ซึ่งรักษาไม่หาย บุหรี่ไฟฟ้า เป็นแค่ไอน้ำ ความจริงคือ ไอของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ไอน้ำ ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดของผู้ใช้สัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ไดอะซีติล และอะโครลิน รวมถึงอนุภาคโลหะที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และ ตะกั่ว เป็นต้น และความเชื่อที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีสารนิโคตินทำให้ไม่เสพติด ความจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า สารนิโคตินจะถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที ซึ่งสมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า เรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่แม้จะมีสถานการณ์ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกันกับการสูบบุหรี่ แต่หากเจาะลึกเฉพาะกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ ในปี 2564 เป็นสัดส่วนกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูงสุด ถึง 84.1% ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สสส. จึงมีเป้าหมายจะขยายแนวร่วมสานพลังให้ภาคีเครือข่ายสุขภาพ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นเหตุไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ การช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง โดยมีครู นักเรียน นักศึกษาเป็นตัวแทน/แกนนำในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ คือ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะวิชาชีพ รวมถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ดังนั้นการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพให้ผู้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งโครงการการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาฯ ที่ได้นำร่องได้ดำเนินการในวิทยาลัย 45 แห่ง ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยง ตลอดระยะเวลาดำเนินการที่ผ่านมา มีรายงาน อัตราการตรวจพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ลดน้อยลง
“ขอขอบคุณ สสส. และคณะผู้บริหารที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานการป้องกันปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษาทุกแห่ง สู่ชุมชนและสาธารณชน เพื่อให้เกิดโครงการฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป” เรืออากาศโทสมพร กล่าว
สำหรับกิจกรรมการสรุปโครงการและถอดบทเรียนจากโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่) ในสถานศึกษา จัดขึ้นในวันที่ 14 -15 ส.ค. 2567 โดยมีครูและนักศึกษาแกนนำจาก 45 วิทยาลัย นำผลการดำเนินงานมาร่วมแสดงและนำเสนอ
โดยมีตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการลดการซื้อ (เหล้าและบุหรี่) เท่ากับยื้ออนาคต โดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย จ.เชียงราย ที่ได้ร่วมกันคิดสร้างสรรค์เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเพื่อน ๆ นักศึกษาในวิทยาลัยให้ลดละเลิกการสูบ-ดื่ม และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดย นายจีรภัทร ศิริชัย นักศึกษาชั้น ปวส.2 กล่าวว่า โครงการที่ทำมีหลายอย่างทั้งการจัดประกวดการแข่งขันวาดกราฟิตี้บนกำแพงภายในวิทยาลัย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้หันมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์และเป็นการปลูกฝังความรู้เรื่องพิษภัยของเหล้า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังได้จัดเวทีเสวนา รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ดึงอดีตรุ่นพี่ที่เคยหลงผิด สูบบุหรี่ไฟฟ้า และดื่มแอลกอฮอล์หนัก จนได้รับผลกระทบต่อร่างกายจนสุดท้ายต้องหันหลังให้กับปัจจัยเสี่ยง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ด้านลบ ถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และกิจกรรมการทำโปสเตอร์ ‘เพื่อนเตือนเพื่อน’ หยุดสูบในสถานศึกษาติดตามที่ลับสายตาหรือจุดอับของทางวิทยาลัยที่อาจกลายเป็นพื้นที่สูบบุหรี่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีการใช้บุหรี่ในสถานศึกษาลดลง คนเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าและทำให้มีเงินเก็บได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อการเรียนที่ดีขึ้น
ขณะที่ โครงการวางมือจากบุหรี่ใช้ความสามารถที่มีในทางสร้างสรรค์ “ลด ละ เลิก” บุหรี่ในสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ นางสาวกัญญาภัทร ทองดี นักศึกษาชั้น ปสว.2 กล่าวว่า หลังได้เข้าร่วมอบรมแกนนำที่ จ.ขอนแก่น ได้นำองค์ความรู้กลับไป ดำเนินกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ ประกวดสื่อ Tiktok สื่อหนังสั้น และสื่อ info graphic ในหัวข้อลดละเลิกบุหรี่ในสถานศึกษา รวมทั้งจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ระดมสมอง มองปัญหา การนำเสนอหลักการและแนวคิด ในหัวข้อลดละเลิกบุหรี่ในสถานศึกษา ซึ่งทำให้ภายในวิทยาลัยเกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง และรู้จักที่จะปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนได้ และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าเพื่อน ๆ ในวิทยาลัยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี