กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีสัมมนาพัฒนานักศึกษา ปี 2567 ด้วยแนวคิด “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: บูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษา” (Empowering Minds for a Sustainable Future: Integrating SDGs in Higher Education) มุ่งเสริมศักยภาพบุคลากรและนิสิตนักศึกษา ขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เข้าร่วมงานสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2567 ณ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การจัดงานในวันนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ไม่เพียงเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่ยังเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ที่จะเป็นผู้นำในอนาคต ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางที่สร้างสรรค์การพัฒนาและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า พร้อมทั้งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพื่อสร้างบุคคลที่มีความรู้ มีจิตสำนึก และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นใน 3 ข้อหลัก คือ 1. การบูรณาการ SDGs เข้าสู่หลักสูตรและการวิจัย โดยมหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้หลักสูตรการเรียนการสอนทุกสาขามีความเกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างเป็นรูปธรรม นักศึกษาทุกคนควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้ SDGs เป็นกรอบการคิด การวิจัยควรเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาของโลกได้อย่างยั่งยืน 2. การสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะนักศึกษาคือผู้นำในอนาคต ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นผู้นำที่มีจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างสมดุล และมุ่งเน้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs เราต้องสร้างนักศึกษาที่ไม่เพียงมีความรู้ แต่ยังมีหัวใจที่พร้อมจะรับผิดชอบต่อส่วนรวม 3. การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างสถาบัน การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถทำได้โดยลำพัง มหาวิทยาลัยควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน
เพื่อเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อน SDGs อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระดับมหภาค ด้วยการร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสามารถผลักดันให้อุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ซึ่งการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต
ด้าน ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด บรรยายพิเศษในงานสัมมนา หัวข้อ “พลังการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต ซึ่งหมายถึง ความสามารถด้านสมรรถนะที่เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมีเพื่อเผชิญกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในทศวรรษที่ 21 รวมถึงทักษะที่มีความเกี่ยวพันกับการทำงานในทุกๆอาชีพ และสามารถนำมาใช้ได้กับทุกๆสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งทักษะทุนชีวิตมี 3 องค์ประกอบ คือ การรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์
โดยผลจากการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT พบว่าสัดส่วนของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ อายุ 15-64 ปี จำนวนมาก ขาดทักษะทุนชีวิต โดยจำนวน 64.7% มีทักษะทุนชีวิตในด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆได้ เช่น การทำตามฉลากยา การปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และจำนวน 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง เช่น เม้าส์และแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์พกพา รวมทั้งการค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ได้ และอีก 30.3% ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ มีรายได้จากการทำงานเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่ากลุ่มที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ถึง 6,324 บาท (หรือประมาณ 179 ดอลลาร์สหรัฐ )
จากปัญหาทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ 3.33 ล้านล้านบาท หรือ 20% ของ GDP ในปี 2565 ดังนั้นจึงอยากเสนอแนะให้ภาครัฐกำหนดนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งหาทางก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ กฎระเบียบเดิมให้ได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะต้องพัฒนาทักษะทุนชีวิต ทั้ง 3 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการส่งเสริมการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษา ปี 2567 ยังมีการแสดงวิสัยทัศน์เวทีเสวนาในหัวข้อ “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: บรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษาไทย” โดย ผศ.รัชด ชมภูนิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ว่าที่เรืออากาศตรี ดร.บัญชา สำรวยรื่น รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ผศ.ชัยศักดิ์ คล้ายแดง ประธานอนุกรรมการด้านกิจการนักศึกษา ที่ประชุม
คณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ ดร.พรชัย มงคลวนิช ที่ปรึกษาสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม โดยผู้ร่วมสัมมนาจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมอภิปรายในประเด็น ทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนานักศึกษาอย่างยั่งยืน สุขภาวะของนิสิตนักศึกษา (well-being) และ การพัฒนา soft power ผ่านกิจกรรมนักศึกษา นิทรรศการแสดงผลงานและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา และบูธกิจกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ อาทิ Mental Health Check in และการบริการให้คำปรึกษา โดยกรมสุขภาพจิต Sustainable Market จากสถาบันอุดมศึกษา กิจกรรม Check in จุดไฮไลต์เพื่อรับของรางวัล ปิดท้ายด้วยการมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษาดีเด่น