คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จัดแข่งขันทักษะวิชาการ2568พัฒนาศักยภาพ-ยกระดับมาตรฐาน สู่ตลาดแรงงาน

มทร.ธัญบุรี เป็นเจ้าภาพจัด “โครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 ประจำปี 2568” วันที่ 19-21 ก.พ. 2568 โดยมีนักศึกษาจาก 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 11 คณะ/หน่วยงาน ทั่วประเทศ เข้าร่วมชิงชัยในหลากหลายสาขาทักษะทางวิชาการ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมบริการและตลาดแรงงาน ณ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า การแข่งขันทักษะทางวิชาการครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างทักษะวิชาชีพให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การท่องเที่ยว การโรงแรม และอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงานปัจจุบันและอนาคต การแข่งขันครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการประลองทักษะ แต่ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมก้าวสู่การเป็นมืออาชีพที่มีคุณภาพ และเป็นโอกาสอันดีที่ได้ต้อนรับ 9 มทร. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการร่วมกัน

“นักศึกษาและผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ ในการประยุกต์ใช้ศิลปศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรมและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งยังช่วยปลูกฝังแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย เน้นย้ำ.

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิศากร สิงหเสนี คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนเจ้าภาพในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์ สำหรับปีนี้มีการแข่งขันทั้งหมด 8 กลุ่มทักษะ รวมกว่า 23 รายการ เช่น การแข่งขันการอ่านข่าว การเขียนเรียงความ การโต้วาที การร้องเพลง ทักษะมัคคุเทศก์ ทักษะด้านการโรงแรม และการออกแบบแผนธุรกิจไมซ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ นักศึกษาได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะในสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริง

การแข่งขันทักษะทางวิชาการคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ศิลปศาสตร์ 9 ราชมงคล บนวิถีแห่งความยั่งยืน” ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เข้าแข่งขันไม่เพียงแต่พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน แต่ยังมีจิตสำนึกต่อสังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมบริการไทย โดยไฮไลต์ของงานอยู่ที่การประกาศผลการแข่งขัน การมอบเหรียญรางวัล และที่สำคัญคือ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ งานดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิชาการ ผ่านนิทรรศการ “ศิลปศาสตร์ 9 ราชมงคล บนวิถีแห่งความยั่งยืน” ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ทักษะด้านศิลปศาสตร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *