PUBAT จัดกิจกรรม Read for Thailand อ่านสร้างคน คนสร้างชาติ
ขับเคลื่อนการอ่านเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในประเทศไทย
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Read for Thailand อ่านสร้างคน คนสร้างชาติ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อขับเคลื่อนการอ่าน ปฏิรูปการเรียนรู้ในประเทศไทย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับการอ่าน โดย นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้ข้อมูลว่าเป้าหมายของกิจกรรม Read for Thailand เพื่อการขับเคลื่อนการอ่าน ร่วมกับภาคีเครือข่ายการอ่านฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ เริ่มจากการปรับ mindset (ระบบความคิด) ของสังคม เช่น การศึกษาในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การท่องสอบโดยตำราเพียงไม่กี่เล่ม แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ตลอดเวลา ชีวิตในโลกยุคใหม่ มีความไม่แน่นอนสูงมาก คนต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยชุดความคิดใหม่ๆ ล้มแล้วลุกเร็ว สามารถเริ่มใหม่ด้วยตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า
นางสุชาดา ระบุว่า Read for Thailand จะขับเคลื่อนเป้าหมายปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และคนไทยทั้งประเทศด้วย 4 มิติ คือ
1.มิติวิชาการ ใช้ความรู้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ ด้วยการ รวบรวมงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ “การอ่าน กับการลงทุนในการพัฒนามนุษย์” จัดทำเป็น White Paper (เอกสารข้อมูลสำคัญ) เสนอต่อรัฐบาล/ พรรคการเมือง/ รัฐสภา เพื่อให้ออกนโยบาย/กฎหมาย/กลไกสำคัญที่นำไปสู่การส่งเสริมการอ่าน และแปลงสารที่ได้เป็นหน่วยข้อมูลย่อย เพื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เผยแพร่ใน social media ต่อไป
2.มิติสังคม โดยสร้างฐานประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนการอ่าน ร่วมกันรณรงค์ในสังคมอย่างเป็นเอกภาพและมีพลัง เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ เช่น รวมเครือข่ายต่างๆ เข้ามารวมพลังกัน ประกอบไปด้วย สมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ Thailand Education Partnership,Thailand EF Partnership, เครือข่ายแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจากทั่วประเทศ, เครือข่ายนครแห่งการอ่าน, เครือข่ายโรงเรียน, โครงการหนึ่งอ่านล้านตื่น และมูลนิธิและองค์กรส่งเสริมการอ่านต่างๆ ฯลฯ
3.มิตินโยบาย ปฏิรูปการเรียนรู้ ในทุกระดับ เช่น ระดับชาติ มีกลไกในการขับเคลื่อนการอ่าน องค์กรหรือสถาบันการอ่านแห่งชาติ ส่วนระดับภูมิภาค มีกลไกการขับเคลื่อน เช่น “นครแห่งการอ่าน” และระดับท้องถิ่น ท้องถิ่นมีบทบาทในการส่งเสริมการอ่าน เช่น “ระบบพื้นที่การอ่านท้องถิ่น” เป็นต้น
4.มิติการสื่อสาร สร้างกระแสตื่นตัวต่อการเรียนรู้ ปรับตัว ปฏิรูปการเรียนรู้ คือ ให้คนรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ต้องให้เครื่องมือคือ “การอ่าน” เพื่อให้ผู้คนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกิจกรรมภายในงานซึ่งประกอบไปด้วยบูธนิทรรศการ อ่านสร้างเสริมสุขภาพ : การใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนา IQ, EQ เด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและการอ่าน กิจกรรมภารกิจแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังจะได้ร่วมสนุกกับกิจกรรม กด Like กด Share เฟสบุ๊คแฟนเพจ วัฒนธรรมการอ่าน happy reading พร้อมชมนิทรรศการ “การใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลเพื่อพัฒนา IQ , EQ เด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน” พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์การใช้กองทุนฯ และชมนิทรรศการนวัตกรรมหนังสือ ชุด ฝึกอ่านตามระดับ – Thai Reading Tree “อ่าน อาน อ๊าน” รวมถึงกิจกรรมคลินิกฝึกอ่านให้เจ้าตัวน้อย : รับปรึกษาปัญหาการส่งเสริมการอ่านเพื่อลูกน้อยและสาธิตการเลือกหนังสือเหมาะสมกับวัย และการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และสุดท้ายกับกิจกรรม Mini D.I.Y. มหัศจรรย์มุมหนังสือในบ้าน ชมตัวอย่างการจัดมุมหนังสือให้เจ้าตัวเล็ก ทำได้ง่ายๆ ภายในบ้าน
ข้อมูลเพิ่มเติม
รายนามภาคีเครือข่ายเพื่อการอ่าน
1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
2. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
3. สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
4. สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) / เครือข่าย Thailand EF partnership
5. แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.
6. สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย
7. สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
8. โครงการ ๑ อ่านล้านตื่น
9. สมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน
10. ชมรมบรรณาธิการไทย
11. มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก