LINE ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำองค์กรเทคระดับโลก จัดงาน LINE DEVELOPER DAY 2019 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 วันเต็ม ภายใต้ธีม “LIFE WITH LINE” คาดเป้ารวมพลนักพัฒนาจากทั่วโลกกว่า 3,000 คน ร่วมอัพเดทแนวทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นและทิศทางในอนาคต หวังเป็นแหล่งระดมสมอง แลกเปลี่ยนความรู้ ให้นักพัฒนาสร้างบริการตรงใจผู้ใช้ได้มากขึ้น พร้อมประกาศวิสัยทัศน์เดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มความสะดวกสบาย ความมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อโลกมาอยู่ในมือของทุกคน
ปาร์ค อึยบิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี LINE Corporation ได้ประกาศจุดยืนในการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการของไลน์ ในงาน LINE DEVELOPER DAY 2019 ว่า “เรามุ่งมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์มไลน์ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนในยุคดิจิทัล สามารถตอบสนองทุกความต้องการในชีวิตประจำวัน โดยนำเสนอบริการที่หลายหลายนอกเหนือไปจากการเป็นแชทแอพ ในปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดบริการใหม่กว่า 20 บริการในหลายประเทศทั่วโลก โดยแบ่งการบริการเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ฟินเทค (Fintech) ธุรกิจ (Commerce) O2O (Online-to-Offline) และ คอนเทนต์และบันเทิง (Content & Entertainment)”
นางอึยบิน เพิ่มเติมว่า การที่ไลน์จะพัฒนากลุ่มบริการเหล่านี้ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ในหลากหลายประเทศ ทีมนักพัฒนาจะต้องมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) การรู้จักนำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาพัฒนาร่วมใช้งานเพื่อให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องสามารถเข้าถึง เข้าใจและได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานบริการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการแปลงไฟล์ ภาพ เอกสารให้เป็นข้อความโดยอัตโนมัติหรือ OCR (Optical Character Recognition) และเทคโนโลยีที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาและประโยคในบทสนทนา ภาษาพูดที่ใช้กันทั่วไปหรือ NLU (Natural Language Understanding) เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้ว่ามีประสิทธิภาพ แม่นยำ และปลอดภัย ในก้าวต่อไป เรายังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้มีความใกล้เคียงสมองมนุษย์มากที่สุด เพื่อสอดแทรกเข้าไปในบริการของเราอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีการจัดตั้งทีม LINE Brain ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ
2) การจัดการโครงสร้างและแพลตฟอร์มดาต้าให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน LINE มีเซิร์ฟเวอร์กว่า 40,000 ยูนิตเพื่อรองรับดาต้าที่มีมากมายมหาศาล การจัดการโครงสร้างและแพลตฟอร์มเพื่อรองรับดาต้าจำนวนมากจึงต้องมั่นคงและปลอดภัยที่สุด LINE จีงมีการใช้แพลตฟอร์ม Verda ซึ่งเป็น Private Cloud ในการเก็บดาต้าดังกล่าว
3) การคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูล ด้วยการกำกับดูแลดาต้า (Data Governance) โดยมีการออกแบบนโยบายด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มบริการ, ด้านเทคโนโลยี มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาการถูกขโมยบัญชี รวมถึงการนำเทคโนโลยี FIDO (Fast IDentity Online) เป็นเครื่องมือในการอนุญาติเจ้าของบัญชีในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน LINE Pay ซึ่งในปีหน้านี้ FIDO จะถูกนำไปใช้งานในบริการอื่นๆ โดยเฉพาะบริการทางการเงินที่ต้องการความปลอดภัยขั้นสูงด้วย และด้านสุดท้ายคือความโปร่งใส (Transparency) โดย LINE ได้จัดตั้งและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัด LINE x Intertrust Summit และการจัดตั้งโครงการ LINE Security Bug Bounty Program เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถรายงานจุดแก้ไขหรือข้อบกพร่องใน LINE เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีในการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกัน
ภายในงานปีนี้ มีการนำเสนอเรื่องราวทางด้านเทคโนโลยีทั้งหมดกว่า 70 หัวข้อทั้งจากบุคลากรของ LINE และผู้เชี่ยวชาญภายนอกจากหลากหลายประเทศให้กับผู้ร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 3 พันคน โดยรวบรวมเรื่องราวหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานได้อย่างแม่นยำ และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) มาส่งเสริมการทำงานของนักพัฒนา เช่น หัวข้อเกี่ยวกับ Front end, Infrastructure, server และ Product Management ต่างๆ รวมถึงต่อยอดการพัฒนาบริการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น LINE Ads platform, Openchat, Smart channel และ Timeline เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโซนพูดคุยและนิทรรศการแสดงผลงานและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาและผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงข้อคิดเห็น อีกทั้งยังมีการจัดโซนให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองบริการใหม่ๆ ของ LINE มากมายอีกด้วย
LINE ยังคงตอกย้ำพันธกิจ “CLOSING THE DISTANCE” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมไปถึงการนำพาทุกคนไปใกล้กับบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้นต่อไป