นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา มวล. คว้ารางวัล Best of the best สุดยอดปริญญานิพนธ์เหล็ก SSI 4YE 2020 ได้รับเงินรางวัล 5 หมื่นบาทพร้อมโล่รางวัล
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ประกอบด้วย นางสาวพฤษภา บางเหรียง , นางสาวตูแวกูมารีนี โต๊ะโซ๊ะ , นางสาวภัคจิรา อ่อซ้าย และนายณัฐนนท์ รามณี เจ้าของผลงานเรื่อง ประสิทธิภาพของการอัดแรงคานคอมโพสิทจากเหล็กประกอบ และคอนกรีตเก่าสำหรับระบบพื้นชนิดบาง ภายใต้ชื่อทีม FSB WU โดยมีอาจารย์ ผศ.ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ เป็นที่ปรึกษา คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสุดยอดปริญญานิพนธ์เหล็ก SSI 4YE 2020 ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท และโล่รางวัล ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการ Structural Steel Improvement (SSI) for Young Engineers (SSI 4YE) ประจำปี 2564 โดยบริษัท สหวิริยา อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้
นางสาวภัคจิรา อ่อซ้าย หัวหน้าทีม FSB WU กล่าวว่า งานปริญญานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นการทดสอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการอัดแรงคานคอมโพสิตจากเหล็กประกอบและคอนกรีตผสมเศษคอนกรีตเก่าสำหรับระบบพื้นชนิดบาง เป็นการประยุกต์ใช้ระบบเหล็กเสริมอัดแรงเข้ามาช่วยเพื่อลดปัญหาการแอ่นตัวของคาน ที่มีช่วงยาวลดปัญหาของการสั่นในภาวะใช้งานและเพิ่มความสามารถในการรับแรงดัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร โรงจอดรถของโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ สำนักงาน และอื่นๆ
การแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งการนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การแสดงผลงานได้เป็นที่ประจักษ์และทำให้ผู้คนรู้จัก ม.วลัยลักษณ์ มากขึ้น และได้นำความรู้จากห้องเรียน เช่น การจำลองโมเดลด้วยไฟไนท์อิลิเมนต์ มาใช้ทำนายพฤติกรรมการเสียรูปของคาน ที่เราทำการทดสอบได้สามารถทำให้เรารู้ว่าคานของเรารับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด
“รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในครั้งนี้ และขอขอบคุณอาจารย์ ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ ที่ให้คำปรึกษาแนะนำและสนับสนุนจนทำให้โครงการนี้เป็นที่ยอมรับ ขอบคุณหลักสูตรวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ให้การสนับสนุนการทำโปรเจคในครั้งนี้ ขอบคุณทีมนักวิจัย และบริษัทเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการส่งเข้าประกวดในครั้งนี้และที่ขาดไม่ได้เลยคือขอบคุณโครงการ SSI for Young Engineers 2020 ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้” นางสาวภัคจิรา กล่าว
สำหรับโครงการ Structural Steel Improvement for Young Engineers มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมนิสิตนักศึกษา ให้มีทักษะและความรู้ด้านงานก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กที่เพิ่มขึ้น ด้วยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กแฟนเพจ SSI4YE และผ่านการนำเสนอให้กับน้องๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอโครงงานปริญญานิพนธ์