มทร.ธัญบุรี ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด เพื่อดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ ระหว่างอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษากับผู้เชี่ยวชาญของบริษัท และนักศึกษา
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยและบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี จึงถึงสิ้นอายุบันทึกข้อตกลง โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ ระหว่างอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษากับผู้เชี่ยวชาญของบริษัท และนักศึกษาได้รับการพัฒนาและเพิ่มพูนประสบการณ์ในภาคการผลิตที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ และมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางวิชาการ และการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่เป็นนวัตกร และเพื่อให้การร่วมพัฒนาทางวิชาการและกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยังกล่าวอีกด้วยว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือเราจะร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพในการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และบูรณาการในการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตในยุค 4.0 การวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับบริษัท เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากรและบุคลากร ตลอดจนการผลิตบุคลากรหรือพัฒนาบุคลากรเพิ่มพูนความรู้ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกันพัฒนาให้มีคุณภาพ
ด้าน ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด กล่าวเสริมว่า ในการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นครั้งที่สอง ที่ได้ทำต่อเนื่องกับ มทร.ธัญบุรี ซึ่งมีขอบเขตความร่วมมือหลัก ๆ ด้วยกันคือ การจัดการศึกษา อบรม วิจัยและพัฒนา สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ และสาขาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การบูรณาการการผลิตบัณฑิต รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ในรูปแบบสหกิจศึกษา หรือรูปแบบอื่น ๆ ให้กับนักศึกษาในสายงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาของนักศึกษา ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน เช่น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูล ข้อมูลสารสนเทศ เครื่องมือ สถานที่ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิต การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา และทรัพยากรอื่นเพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย รวมถึงจัดกิจกรรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานภายใต้ความร่วมมือ อีกทั้งการดำเนินการอื่นเพื่อผลักดันให้โครงการสัมฤทธิ์ผล