เจ๋ง! นศ.สถาปัตย์ มวล. ซิวแชมป์ออกแบบวัสดุเหลือใช้ ระดับประเทศ

นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution ได้รับถ้วยพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

นายฐานันดร แซ่ตั้ง และ นายกีรติ ซี่โฮ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบภายใน สำนักสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) เจ้าของผลงาน“INNOVATIVE SOFA SET”โดยมีอาจารย์ช่อทิพย์ สิงหมาตย์  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution ได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ มีนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 22 ทีม สนใจส่งผลงานเข้าประกวด 

นายฐานันดร แซ่ตั้ง กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบชิ้นงาน “INNOVATIVE SOFA SET”ว่า เกิดจากการนำโครงสร้าง และวัสดุเหลือใช้ภายในพื้นที่นิทรรศการงานนวัตกรรม วิทย์พลิกโลก สัปดาห์วิทยาศาสตร์ศูนย์การเรียนรู้ โรงไฟฟ้าขนอม ประจำปี 2565 นำมาใช้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อการใช้งาน โดยได้นำเอาท่อเหล็กเหลี่ยมมาใช้ในการสร้างชุดโซฟา โต๊ะกาแฟที่นำวัสดุเหลือใช้เช่นกระเบื้องยาง และแผ่นเหล็กโครง รวมถึงการนำผ้าขาวบาง และไวนิลมาเย็บติดกับผ้า และนำมาสาน คุณสมบัติของวัสดุมีการยืดหยุ่นตามการใช้งาน เพื่อเป็นจุดพักคอยระหว่างโซนนิทรรศการของศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

 “หลักสูตรการออกแบบภายใน ม.วลัยลักษณ์เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ฝึกทักษะผ่านการปบัติจากสถานที่จริง ซึ่งผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากกับการเข้าร่วมประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ในครั้งนี้ ทั้งนี้ขอขอบคุณคณาจารย์สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ที่คอยสนับสนุนคอยชี้แนะแนวทางและหางานประกวดให้แก่นักศึกษาได้ค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่คอยให้กำลังใจทุกคน”นายฐานันดร กล่าว

ทั้งนี้การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แนวคิด “Transformation for Life” Upcycling Design Contest: Zero Waste Solution เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 เมื่อปลายปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของเศษวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Upcycling) โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งเป็นการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste) ตลอดจนเพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้มีเวทีในการพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือใช้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุดโดยผลงานออกแบบของนักศึกษาจากทีมที่ชนะเลิศ จะถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *