มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)จัดกิจกรรมเปิดตัว “แพลตฟอร์มการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ” สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมให้ออกสู่ตลาด พร้อมทั้งเปิดรับสมัครทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านกลไกโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และด้านพลังงานสะอาด โดยในงานมี รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน และแนะนำบทบาทและแพลตฟอร์มการส่งเสริมนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มีการปรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวแนะนำแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และด้านพลังงานสะอาด ของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ ที่มีความร่วมมือกับ มทร.ในปีนี้ นอกเหนือจากนั้น ในวันงานยังมีกิจกรรมสุดพิเศษ การให้คำปรึกษาสุด Exclusive แบบตัวต่อตัว สำหรับผู้ที่สนใจขอรับทุนอีกด้วย ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี เผยว่า มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ในทักษะเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของภาคประกอบการ มุ่งพัฒนานักศึกษาให้เป็นนักนวัตกรและผู้ประกอบการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขณะเดียวกันยังปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จากหลักสูตรปกติสู่หลักสูตร Premium Course (Kosen, Meister) โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง มทร.ธัญบุรี กลุ่มสถาบันอาชีวศึกษา และกลุ่มสถานประกอบการ โดย มทร.ธัญบุรี ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายความร่วมมือเชิงรุก ซึ่งสถานประกอบการสามารถขอยกเว้นภาษีได้ มีการจัดหลักสูตรที่ข้ามศาสตร์ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับกลุ่มของสถานประกอบการ และการจัดการเรียนการสอนล่วงหน้า หรือแบบสะสมหน่วยกิต แบบ Premium Course (Pre-credit, Kosen, Meister) โดยจะเป็นการร่วมมือระหว่าง มทร.ธัญบุรี โรงเรียนเครือข่าย และสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้เร็วขึ้นและสามารถมีรายได้ระหว่างการศึกษาจะเห็นได้บทบาทที่เกิดขึ้นหลายภารกิจ รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือของ มทร.ธัญบุรี เกี่ยวข้องกับความเป็นนวัตกรรม ที่นำมาสู่กิจกรรมความร่วมมือในโครงการครั้งฯ แพลตฟอร์มจะสร้างประโยชน์อย่างมากที่สุดแก่ผู้ประกอบการ ที่สำคัญจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย
ด้าน รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าบทบาทของ สวพ.มทร.ธัญบุรี ในการสนับสนุน ส่งเสริมด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้าง Platform และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการบ่มเพาะและเสริมสร้างความคิดการเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และบุคคลภายนอกให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ต่อยอดเป็นธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังได้กล่าวรายงานถึง วัตถุประสงค์ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองสาขาธุรกิจนวัตกรรม ผ่านแผนงาน Thematic Innovation เพื่อดำเนินการสรรหา และสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมจาก NIA และมีโอกาสใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจในระดับประเทศต่อไป และขอเน้นย้ำว่าทาง มทร.ธัญบุรี รวมถึง สวพ. จะยืนหยัด เคียงข้าง และเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีแก่ประชาชน
ส่วน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้านเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่จะเข้าช่วยในการผลักดันธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ออกสู่ตลาดในสองสาขา (1)ธุรกิจเศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ (2)ธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งสองสาขานี้มีความสำคัญกับประเทศของเราเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้ประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างรวดเร็ว และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนวัตกรรมนี้ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถ
ทางการแข่งขัน ด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของภาคเอกชนไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งยังสามารถสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย ที่สำคัญทาง มทร.ธัญบุรี และเครือข่ายพันธมิตรมีความเชี่ยวชาญ ที่จะสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ให้นำนวัตกรรมจากงานวิจัยออกสู่ตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชน และวิสาหกิจชุมชน หรือด้านการทำตลาด เพื่อผลักดันงานนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และเชื่อว่าทีมงานของเราทั้ง มทร.ธัญบุรี และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีความพร้อมที่จะคอยช่วยดูแลให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการมุ่งเป้าด้านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี.