ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิศวกรรมไม้ นักวิจัยจาก 4 ชาติเข้าร่วม

ม.วลัยลักษณ์ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “International Timber Engineering Education and Research Symposium” นักวิจัยจากประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และไทยเข้าร่วม

ม.วลัยลักษณ์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพและสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี่ ประเทศนิวซีแลนด์ จัดประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ “International Timber Engineering Education and Research Symposium” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการศึกษาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากไม้ในงานโครงสร้างอาคารสมัยใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ สอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ณ ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ชั้น 9 อาคาร B โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติหรือ SDGs ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 401-600 ของโลก จากการจัดอันดับผลงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) โดยTimes Higher Education Impact Rankings ปี 2023  โดยผลงานด้าน SDG2 ,SDG6 ,SDG11 และSDG14 สามารถทำคะแนนติดอันดับ Top 100 ของโลก จากผลงานดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นในการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนการใช้วัสดุไม้ในการก่อสร้างจึงเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับความตั้งใจของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมสีเขียวอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ ล่าสุดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยสีเขียวของภาคใต้ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เมื่อปี 2023 โดย UI GreenMetric World University Rankings งานประชุมวิชาการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกในด้านการวิจัยเชิงนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการวิจัยระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับทั่วโลกอีกด้วย

รศ.ดร.สุธน ศรีวะโร อาจารย์ประจำหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลระดับโลก จึงได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด “ภาวะโลกร้อน” ดังนั้น “ไม้” จึงกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับการก่อสร้างอาคาร เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ การวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ จึงมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถยกระดับอาคารไม้ให้สูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้มากกว่า 8 ชั้น และสอดคล้องกับการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. สุธน กล่าวอีกว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ ทั้งในประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ที่วัสดุไม้ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดการก่อสร้างอาคารระดับกลางถึงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศเขตร้อน ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ ได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังในเรื่องนี้ และหวังเป็น อย่างยิ่งว่าจะช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการศึกษาและการวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ในประเทศไทย และเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรไม้ที่มีอยู่ให้มากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล และช่วยให้อุตสาหกรรมไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้มากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *