เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิธีมอบรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น กรมการแพทย์ ประจำปี 2566 โดยหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว คือ ผศ.(พิเศษ) นายแพทย์ธเนศ ไทยดำรงค์ ศิษย์เก่าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี
ผศ.(พิเศษ) นายแพทย์ธเนศ ไทยดำรงค์ เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจมากสำหรับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ของกรมการแพทย์ ประจำปี 2566 รางวัลนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่และบุคลากรในโรงพยาบาลราชวิถีเลือกและโหวตเราเข้าไป สิ่งที่ภูมิใจอีกอย่างคือ เราได้มีโอกาสมาเล่าเรื่อง ได้นำผลงานที่พวกเราทำ เพราะสิ่งที่ผมได้คือไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว เราได้มีโอกาสนำสิ่งที่พวกเราได้ช่วยกันทำมาหลายปี ไปนำเสนอในวงของกรมการแพทย์ หรือในวงที่ใหญ่ขึ้นจนได้รับคัดเลือก ทั้งหมดก็ภาคภูมิใจมากที่เราได้บ่มฟักตั้งแต่มหาวิทยาลัยรังสิตมาที่สถาบันร่วมผลิตแพทย์กรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี และคณาจารย์ที่โรงพยาบาลราชวิถีก็ได้กล่อมเกลาให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ช่วยงานเรามา
“เราได้สร้างทีมขึ้นมาซึ่งผมเองได้มีส่วนในการสร้างทีมผ่าตัดทางกล้องในศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ปัจจุบันคือศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดทางกล้องศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และทีมดมยา ได้ออกไปนิเทศ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราคิดค้น และทดสอบแล้วว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาค จึงได้นำเทคโนโลยีผ่าตัดนั้นๆ ไปสู่พื้นที่ เราไม่ได้ลงไปเพื่อออกหน่วยและรักษาคนไข้อย่างเดียว แต่เราสอนให้คนที่นั่นให้ทำให้ได้ เมื่อเขาทำได้จะช่วยให้คนไข้ไม่ต้องเดินทาง ลดการเสียโอกาสต่างๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาเท่าเทียมกับในเมืองใหญ่ ๆ ดังนั้น การที่คนพื้นที่และคุณหมอในพื้นที่รักษาคนพื้นที่กันเองก็สามารถช่วยให้คนไข้ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลา และเกิดความยั่งยืน เกิดการพัฒนาต่อไป การผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่อย่างมากปีหนึ่งอาจจะไม่เกิน 100 ราย แต่ถ้ามีคนที่ทำได้อย่างเราที่อื่นๆ และทำไปพร้อม ๆ กัน คงจะช่วยคนไข้ได้มากมายมหาศาล
สำหรับอีกหนึ่งชิ้นงานที่ภูมิใจคือ การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ที่โรงพยาบาลราชวิถี ได้ลงระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นเครื่องใหม่ล่าสุด เป็นเครื่องแรกของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลราชวิถี เรามีของใหม่และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น หุ่นยนต์นี้ช่วยในการผ่าตัดมะเร็งที่ผ่าตัดยาก ๆ เข้าถึงยาก ๆ หุ่นยนต์ก็จะมีแขนกลต่าง ๆ ที่จะเข้าไปในส่วนที่ควบคุมโดยแพทย์ ทั้งหมดนี้ประกอบกับเทคนิคใหม่ที่เรารบกวนอวัยวะต่าง ๆ น้อยลง ให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น” ผศ.(พิเศษ) นายแพทย์ธเนศ กล่าว