มหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมเปิดให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ด้วยมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน ในปี 2568
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ผลิตบัณฑิตมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 ที่เน้นการให้การศึกษาในรูปแบบการให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์(Paradigm) ทางด้านการแพทย์จาก Volume Based เป็น Value Based ที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแทนการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้วิศวกรชีวการแพทย์ซึ่งมีบทบาทรับผิดชอบทางด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์และยารักษาโรค สำหรับบทบาทของงานทางด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนโดยตรงนั้นจะเกี่ยวข้องกับการทำให้เครื่องมือแพทย์มีความพอเพียง และความพร้อมใช้งานสำหรับเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพนั้นจะเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของทั้งสองภารกิจก็คือ ความถูกต้องและความแม่นยำของการทำงานของเครื่องมือแพทย์ เพราะเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุภาพนั้นเปรียบเสมือนเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น เพราะถ้าข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือแพทย์และการทำงานไม่ถูกต้องจะส่งผลทำให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ผิดพลาดไปด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น องค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนรวมทั้งมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลทุกองค์กร จึงมีข้อกำหนดที่สำคัญในเรื่องที่จะต้องบังคับให้มีการสอบเทียบและการทวนสอบเครื่องมือแพทย์ ทั้งก่อนการใช้งานและตามระยะเวลาที่กำหนดโดยห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้มาตรฐานในระดับสากล
สำหรับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการสอบเทียบที่ได้รับการยอมรับทั่วไปในระดับสากลรวมทั้งประเทศไทยก็คือ มาตรฐานISO/IEC 17025 โดยหน่วยงานที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวนั้น ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องทั้งสถานที่ เครื่องมือมาตรฐาน คน รวมทั้งระบบบริหารจัดการจะต้องผ่านการตรวจประเมิน เพื่อให้การรับรองจากสำนักงานใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงจะสามารถดำเนินการให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์กับสถานบริการการดูแลรักษาสุขภาพได้
ในส่วนของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิตนั้น ได้เปิดศูนย์ที่ชื่อว่า ศูนย์นวัตกรรมและบริการวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering Inovation and Sevices Center: BIS Center) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 โดยใช้เป็นที่สำหรับดำเนินภารกิจในด้านการให้บริการทางวิชาการรวม ทั้งใช้สำหรับการให้การศึกษากับนักศึกษาในลักษณะการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และได้มีแผนงานที่จะขอรับรองมาตรฐานในระดับสากลคือ ISO/IEC 17025
ต่อมาในปีการศึกษา 2564 หลังจากได้มีความร่วมมือในมิติต่าง ๆ กันมาก่อนหน้าหลายปี จึงได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับบริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ในการสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมกว่า 200 พารามิเตอร์ และมีโครงการที่จะขยายงานเพื่อให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน
ด้วยความร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นที่มาในการขอรับการรับรองโดยมาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อการให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทางมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 จึงให้การรับรองมาตรฐานดังกล่าว ส่งผลทำให้ศูนย์ BIS ภายใต้วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 200 พารามิเตอร์ภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ร่วมกับ บริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ได้ และจะเริ่มให้บริการภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
ดังนั้น จึงถือว่าการดำเนินงานดังกล่าวของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในเรื่องของ Certification ตาม Roadmap to Excellence ของดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้ง และถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไปสู่เป้าหมาย “การเป็นขุมพลังแห่งปัญญาและการชี้นำสังคมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์” ตามปณิธานของดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต กล่าวปิดท้าย